การเยือนไทยของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน ๑๕ - ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

การเยือนไทยของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน ๑๕ - ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.พ. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,064 view

      เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เดินทางเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการเยือนได้พบหารือเชิงยุทธศาสตร์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่ ในแบบที่ไม่เป็นทางการ นับเป็นการหารือทวิภาคีไทย - จีนระดับสูงแบบไม่เป็นทางการครั้งแรก ซึ่งสะท้อนถึงระดับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัน

      ในการพบปะดังกล่าวทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทัศนะอย่างกว้างขวาง ลงลึก และครอบคลุมประเด็นทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศที่มีความสนใจร่วมกัน ในบรรยากาศฉันมิตร มีประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้

         (๑) ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ข้อพิพาททางการค้าจีน - สหรัฐฯ และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยฝ่ายไทยได้ย้ำถึงความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของโลกและภูมิภาค อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาและความอยู่ดีกินดีของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ไทยสนับสนุนบทบาท ที่สร้างสรรค์ของประเทศมหาอำนาจ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน รวมทั้งได้เสนอให้นำสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคอินโด - เอเชีย - แปซิฟิกซึ่งจีนก็เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดี เนื่องจากประเทศผู้เล่นสำคัญต่างเป็นรัฐภาคีของ TAC อยู่แล้ว

         (๒) ในประเด็นทะเลจีนใต้ ไทยแสดงความยินดีที่จีนได้ให้คำมั่นที่จะให้การเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี หรือหากเป็นไปได้ ก็ขอให้แล้วเสร็จเร็วกว่านั้น รวมทั้งยินดีที่จีนให้คำมั่นในเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านน่านฟ้าในทะเลจีนใต้ โดยภายหลังการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้ออกถ้อยแถลงสะท้อนคำมั่นดังกล่าวด้วย พร้อมกับได้ย้ำว่าจีนจะคงความพยายามที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไปในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ เพื่อให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในที่สุด

         (๓) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ (The 2030 Agenda for Sustainable Development) โดยไทยมีประสบการณ์จากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว

         (๔) ในประเด็นความร่วมมือในภูมิภาคและอนุภูมิภาค ไทยได้เสนอวิสัยทัศน์ของไทยในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งจีนได้แสดงความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อบทบาทของไทย ความเป็นแกนกลางของอาเซียน ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) กับแผนแม่บทความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC 2025) และวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (ASEAN Vision 2025) เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และสนับสนุนความพยายามสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนั้น ยังได้หารือถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ด้วย

         (๕) ไทยย้ำเจตนารมณ์ในการเชื่อมโยงความร่วมมือในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) กับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Greater Bay Area: GBA) ซึ่งจีนยินดีที่ไทยแสดงความประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมใน GBA ด้วย
               พร้อมกันนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม (win - win) คำนึงถึงพัฒนาการและความพร้อมของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน อาทิ กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) และคณะกรรมการประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง - ล้านช้าง (The Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Mekong - Lancang River: JCCCN)
               นอกจากนั้น จีนได้รับทราบถึงท่าทีของฝ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อเสนอให้ระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนไทย - ลาว และต่อวิถีชีวิตของประชาชนริมแม่น้ำ ทั้งนี้ พร้อมให้ความร่วมมือตามข้อเสนอของไทยที่ให้ยุติโครงการดังกล่าว

         (๖) ความสัมพันธ์ทวิภาคี:
               ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความสัมพันธ์ไทย - จีนที่แน่นแฟ้นและมีพลวัตสูงในทุกระดับ ย้ำความมุ่งมั่นที่จะผลักดันความร่วมมือทวิภาคีให้เป็นรูปธรรม อาทิ โครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย - จีน ความร่วมมือไตรภาคี (ไทย - จีน - ญี่ปุ่น) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคี ๑๔๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๖๔ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
              ไทยยังได้แสดงความพร้อมเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ ๒ ในเดือนเมษายน ๒๕๖๒ ที่กรุงปักกิ่ง และงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China International Import Expo: CIIE) ครั้งที่ ๒ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ ที่นครเซี่ยงไฮ้ ในขณะที่ ฝ่ายจีนแสดงความยินดีต่อการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office: HKETO) ประจำประเทศไทยที่จะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้
              อนึ่ง ฝ่ายจีนแจ้งด้วยว่า นายกรัฐมนตรีจีนจะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เกี่ยวข้องในปลายปีนี้ด้วย 

      ทั้งนี้ การหารือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและจีนข้างต้นประสบผลสำเร็จดียิ่ง มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม  สานต่อพลวัตที่ดีของความสัมพันธ์ไทย - จีน กับประโยชน์ในการขยายบางโอกาสเป็นความร่วมมือไตรภาคี ซึ่งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดและรอบด้าน เสริมสร้างสถานะของไทยในฐานะประธานอาเซียน รวมทั้งเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และเป็นกันเอง ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคในภาพรวม

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ