ร่างพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. ....

ร่างพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. ....

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,081 view

      เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๑ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาและลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. .... 

      ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะให้การสนับสนุนอย่างสำคัญแก่นโยบายของรัฐบาลอันที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขององค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเช่นเดียวกับนโยบายที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ  ทุกด้าน นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ตลอดจนเสริมสร้างความเชื่อมั่นในบทบาทของไทยต่อประชาคมโลก รวมทั้งจะส่งผลดีในทางอ้อมต่อประเทศในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว อันจะนำมาซึ่งรายได้และเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศไทยเป็นผลพลอยได้ และจะเป็นการส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ที่ทันสมัยให้กับสังคมไทยอีกด้วย

      ในปัจจุบัน ไทยเป็นที่ตั้งขององค์การต่าง ๆ ของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติประมาณ ๒๘ องค์การ และองค์การระหว่างประเทศที่ไม่ใช่สหประชาชาติ ประมาณ ๑๘ องค์การ ตลอดจนมีองค์การอื่นที่แสดงความประสงค์จะเข้ามาตั้งสำนักงานหรือยกระดับสำนักงานในประเทศไทย อีกประมาณ ๑๐ องค์การ

      ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นกฎหมายกลางในการคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศ โดยกำหนดหลักการในการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามความจำเป็นแก่ภาระหน้าที่ของแต่ละองค์การ ทั้งนี้ไม่เกินที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศเพื่อให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศแต่ละรายเป็นการเฉพาะ อันจะช่วยลดขั้นตอน และย่นระยะเวลาของกระบวนการจัดตั้งสำนักงานและการจัดประชุมขององค์การระหว่างประเทศในประเทศไทย

      ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดกรอบการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและบุคลากรขององค์การระหว่างประเทศ สอดคล้องกับขอบเขตที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสหประชาชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่ไทยเป็นภาคี และแนวปฏิบัติที่ไทยเคยทำกับองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมทั้งแนวทางการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์กลางขององค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เคนยา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย

      ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ (๑) องค์การระหว่างประเทศ (องค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลและกึ่งรัฐบาล) และบุคลากรขององค์การฯ (๒) กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ (เช่น APEC BIMSTEC และ ACMECS) และบุคลากรของกลุ่มความร่วมมือฯ (๓) ผู้จัดและผู้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ให้สิทธิประโยชน์ซึ่งไม่ใช่เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่การประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดการประชุมและนิทรรศการอีกด้วย

      ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าและสามารถรักษาผลประโยชน์ของไทยในเวทีโลกซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการที่มีองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย เคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศสำคัญในโลก สมดังฉายา “เจนีวาแห่งเอเชีย”