วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ส.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๗ ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยในการร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคแก้ไขปัญหา การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การค้ามนุษย์ การลักลอบขนคน และอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๗ ของกระบวนการบาหลีว่าด้วยการลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง (Declaration of the Seventh Ministerial Conference of the Bali Process on People Smuggling, Trafficking in Persons and Related Transnational Crime) เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ร่วมอย่างต่อเนื่องของประเทศสมาชิกในการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอย่างครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนบนพื้นฐานของหลักการการแบ่งเบาภาระระหว่างประเทศ รวมทั้งสะท้อนความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการดำเนินงานร่วมกันต่อไปตามปฏิญญาบาหลีจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๖ เมื่อปี ๒๕๕๙
ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงประเมินความสำเร็จของกระบวนการบาหลีในช่วงสองปีที่ผ่านมา ให้ข้อมูลการดำเนินการที่สำคัญของไทย ซึ่งรวมถึงการยื่นสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีพิธีสาร ค.ศ. ๒๐๑๔ ของอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ (หรือ P29) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ และการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานพ.ศ. .... รวมทั้งได้เสนอให้กระบวนการบาหลีร่วมสนับสนุนประเทศสมาชิกในการนำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration – GCM) มาปฏิบัติใช้
นอกจากนี้ ผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจของกระบวนการบาหลี (Bali Process Government and Business Forum) ครั้งที่ ๒ โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอแนะ “AAA (Acknowledge, Act, Advance) Recommendations” ของภาคธุรกิจในการร่วมมือแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับ ทั้งนี้ นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ได้ร่วมให้ข้อมูลความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนของไทยในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหา มาตรการทางนิติบัญญัติ และการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในระยะยาว ในขณะที่ภาคเอกชนจากประเทศต่าง ๆ ได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมขจัดการบังคับใช้แรงงานและการทาสสมัยใหม่ให้หมดไปจากห่วงโซ่อุปทาน โดยที่ประชุมได้รับรองให้การประชุมระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจเป็นเวทีหารือแบบถาวรของกระบวนการบาหลีต่อไป
การประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๗ มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกและองค์การระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกเข้าร่วม จำนวน ๔๓ ประเทศ/องค์การ โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วม จำนวน ๒๖ คน ซึ่งนับว่ามากที่สุดนับตั้งแต่กระบวนการบาหลีได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ โดยนางจูลี บิชอป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย และนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เป็นประธานร่วมของการประชุม
อนึ่ง ในระหว่างการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือทวิภาคีกับนายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) เกี่ยวกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานรูปแบบต่าง ๆ ในภูมิภาค
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **