ระหว่างวันที่ ๒ – ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมในการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือแม่โขง – คงคา ครั้งที่ ๙ และเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๑๑ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๘ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๑ ณ สิงคโปร์
ที่ประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือแม่โขง – คงคา ครั้งที่ ๙ ขอบคุณอินเดียสำหรับการมีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและยินดีต่อความคืบหน้าในการดำเนินความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ปี ค.ศ. ๒๐๑๖ – ๒๐๑๘ รวมทั้งหารือทิศทางความร่วมมือในอนาคตเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา การคมนาคมขนส่ง สาธารณสุข การเกษตร การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การบริหารจัดการน้ำ และร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ ๙ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑
ที่ประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๑๑ ได้รับรอง Joint Statement to Strengthen Data Management and Information Sharing in the Lower Mekong ซึ่งเป็นแถลงการณ์ร่วมระหว่างประเทศสมาชิกข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง เพื่อกำหนดทิศทางและส่งเสริมความร่วมมือเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้รับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรี Lower Mekong Initiative (LMI) ครั้งที่ ๑๑ ซึ่งยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำ และการปรับปรุงและจัดระเบียบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างให้มีพลวัตและตอบสนองต่อความต้องการของอนุภูมิภาคมากขึ้น
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๘ ได้พิจารณารับรองถ้อยแถลงประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๘ โดยเห็นชอบการยกระดับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีขึ้นเป็นการประชุมระดับผู้นำ โดยคาดว่าจะมีการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกในปี ๒๕๖๒ ทั้งนี้ สาธารณรัฐเกาหลีได้ประกาศเพิ่มงบประมาณสำหรับกองทุน Mekong – ROK Cooperation Fund จากปีละ ๑.๑ ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น ๒ ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย New Southern Policy เพื่อขยายความร่วมมือกับกลุ่มประเทศแม่โขง นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้หารือสถานการณ์ในภูมิภาค โดยยินดีต่อสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีที่มีการคลี่คลายไปในทางบวก สะท้อนเจตนารมณ์ที่จะบรรลุสันติภาพ ความมั่นคง และความรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๑ ได้ทบทวนความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวฉบับใหม่ ค.ศ. ๒๐๑๕ ซึ่งจะสิ้นสุดในปี ๒๕๖๑ และหารือทิศทางความร่วมมือในอนาคต รวมทั้งสถานการณ์ในภูมิภาค ทั้งนี้ ความร่วมมือในอนาคตจะเน้นการส่งเสริม (๑) ความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ (๒) ความเชื่อมโยงระดับประชาชนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (๓) การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะนำยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ของญี่ปุ่นและกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งแผนแม่บทยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS) (ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๓) มาเป็นแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการรับรองในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๐ ระหว่างวันที่ ๘ – ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ กรุงโตเกียว นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๑
ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงทั้ง ๔ กรอบข้างต้น ไทยได้เน้นย้ำบทบาทการเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ชูประเด็นการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางกายภาพ กฎระเบียบ รวมทั้งความเชื่อมโยงในภาคประชาชน และความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งได้เสนอการนำแผนแม่บท ACMECS มาเป็นแนวทางในการดำเนินการความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้เชิญประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง ๔ ประเทศเข้าร่วมเป็น development partners ใน ACMECS ด้วย