กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว และคณะศึกษาดูงานศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตามคำเชิญของเมืองเวยไห่ มณฑลซานตง เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑

กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว และคณะศึกษาดูงานศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตามคำเชิญของเมืองเวยไห่ มณฑลซานตง เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 952 view

          เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว และคณะได้รับการต้อนรับจากนายซ่าน ต๋าจื้อ รองอธิบดีสำนักงานการต่างประเทศเมืองเวยไห่ นำคณะเดินทางศึกษาดูงานบริษัทนำเข้าสินค้า Shandong Shindadong Inc. ซึ่งตั้งอยู่ในตลาดค้าส่งสินค้าเกาหลีใต้ – ญี่ปุ่น เมืองเวยไห่ โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศเกาหลีใต้ มาเลเซียและออสเตรเลีย รายใหญ่ของเมืองเวยไห่ ปัจจุบัน มีสินค้านำเข้าจากไทย ได้แก่ สบู่หอมรูปผลไม้ กาแฟกึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ด และหมอนยางพารา ทั้งนี้ บริษัทมีความสนใจที่จะร่วมมือกับผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการไทยในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าไทยและสร้างทางเลือกในการอุปโภคและบริโภคสินค้าให้กับชาวเมืองเวยไห่

          จากนั้น กงสุลใหญ่ฯ และคณะได้เยี่ยมชมห้องจัดแสดงแผนผังเขตเมืองใหม่ริมทะเลทางตะวันออกของเมืองเวยไห่ โดยเมื่อสร้างเสร็จเมืองใหม่แห่งนี้จะมีพื้นที่ ๑๙๑ ตารางกิโลเมตร ห่างจากท่าเรือเวยไห่ ๗ กิโลเมตร และห่างจากสนามบินเวยไห่เพียง ๒๐ กิโลเมตร เมืองใหม่แห่งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ รวมทั้งยกระดับเมืองให้เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านเทคโนโลยี การพัฒนาความเชื่อมต่อทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งการพัฒนาเมืองใหม่จะนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน และเพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อและไปมาหาสู่ระหว่างประเทศ

          หลังจากนั้น กงสุลใหญ่ฯ และคณะได้เยี่ยมชมบริษัท PRINX CHENGSHAN (SHANDONG) TIRE ซึ่งเป็นบริษัทวิจัย ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์รายใหญ่ของเมืองเวยไห่ ในปี ๒๕๖๐ บริษัทฯ มีกำลังการผลิต ๑๒ ล้านยูนิต และในปี ๒๕๖๑ คาดว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นถึง ๑๓.๕ ล้านยูนิต โดยยางรถยนต์ที่ผลิตถูกส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๓๐ แห่ง โดยส่งออกยางรถยนต์มาประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ ๑ รองลงมาได้แก่ประเทศมาเลเซีย สหรัฐอเมริกาฯ และปากีสถาน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนก่อตั้งฐานผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะก่อตั้งฐานผลิตที่ประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ผลิตยางพาราและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่จะสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในอนาคต

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ