ทีมประเทศไทย ณ นครลอสแองเจลิส เยี่ยมชมและหารือกับผู้บริหารบริษัท Zodiac Aerospace มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ทีมประเทศไทย ณ นครลอสแองเจลิส เยี่ยมชมและหารือกับผู้บริหารบริษัท Zodiac Aerospace มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,323 view

           เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ กงสุลใหญ่ฯ พร้อมด้วยนางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้า ณ นครลอสแอนเจลิส นางสุดากร เทวกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ณ นครลอสแอนเจลิส นางจิตรฉวี อรุณรุ่งเลิศ กงสุล (เศรษฐกิจ) และนักศึกษาฝึกงานของสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้พบหารือกับ นายพเนตร สัตยธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท Zodiac Aerospace มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท ทั้งในสหรัฐฯ และประเทศไทย ตลอดจนเยี่ยมชมสำนักงาน ห้องปฏิบัติการ และโรงงานของบริษัท สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          ๑. บริษัท Zodiac Aerospace ก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๓๙ โดยเริ่มจากการผลิตเรือเหาะ (airship) และเรือยางติดเครื่องยนต์ ต่อมาจึงหันมาผลิตระบบที่เกี่ยวข้องกับการบินและอุปกรณ์ที่ใช้ในเครื่องบิน จนมีความเชี่ยวชาญและมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกกว่าร้อยละ ๖๐ ล่าสุดเมื่อต้นปี ๒๕๖๑ บริษัท Zodiac Aerospace ได้ควบรวมกิจการกับกลุ่มบริษัท Safran (ฝรั่งเศส) มีมูลค่าการซื้อขายกว่า ๕ พันล้านยูโร ทำให้กลายเป็นกลุ่มบริษัทด้านการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก รองจาก Boeing และ Airbus

          ๒. ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) ระบบที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Aerosystems) อาทิ ระบบความปลอดภัยภาคพื้นดิน อุปกรณ์ไฟฟ้าในห้องนักบิน และระบบควบคุมน้ำและของเสียในเครื่องบิน ๒) ส่วนประกอบต่าง ๆ ในห้องโดยสารเครื่องบิน (Cabin) อาทิ ประตูนิรภัยของห้องนักบิน ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะ ห้องสุขา ครัว และรถเข็นอาหารในเครื่องบิน และ ๓) เก้าอี้โดยสารในเครื่องบินทุกระดับชั้น โดยลูกค้าของบริษัท ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน สายการบิน ท่าอากาศยาน และเจ้าของเครื่องบินส่วนบุคคล

           ๓. กำลังการผลิตส่วนใหญ่ของบริษัท (ร้อยละ ๕๕) อยู่ในสหรัฐฯ ที่เหลืออยู่ในยุโรปและเอเชีย โดยบริษัทมีโรงงาน ๒ แห่งในประเทศไทย ได้แก่ ๑) โรงงานผลิตอุปกรณ์การขนส่งสินค้าทางอากาศ (air cargo) ที่จังหวัดสมุทรปราการ และ ๒) โรงงานผลิตอุปกรณ์การบริการอาหารบนเครื่องบิน (air catering) ที่จังหวัดลำพูน โดยเฉพาะรถเข็นอาหารในเครื่องบิน (trolley) ซึ่งกว่าร้อยละ ๙๐ ของรถเข็นอาหารในเครื่องบินที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกผลิตจากโรงงานแห่งนี้ โดยผลิตครบ ๒ ล้านตู้เมื่อปี ๒๕๕๙ ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานราว ๓๒,๕๐๐ คน เป็นคนไทยที่ทำงานอยู่ในสำนักงานในสหรัฐฯ ประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญ และมีพนักงานคนไทยในโรงงานที่ประเทศไทยอีกกว่า ๒,๐๐๐ คน

           ๔. จุดเด่นของบริษัท คือ มีความสามารถครบวงจร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ (raw material) การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (เช่น การทดสอบความกัดกร่อน ความทนไฟ ฯลฯ) ซึ่งมีกระบวนการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (Federal Aviation Administration – FAA)

          ๕. กงสุลใหญ่ฯ และทีมประเทศไทยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) โดยเสนอให้บริษัทพิจารณาจัดตั้งห้องปฏิบัติการในประเทศไทย เพื่อทดสอบอุปกรณ์ที่ผลิตจากโรงงานในไทยและในเอเชีย แทนการจัดส่งมาทดสอบที่สหรัฐฯ ซึ่งจะต้องอาศัยการตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย (สำนักงานการบินพลเรือนแห่ง ปทท.) และสหรัฐฯ (FAA) ต่อไป

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ