รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานร่วมแลกเปลี่ยนพัฒนาการและทิศทางในอนาคตด้านพลังงานของไทย ในการอภิปรายเรื่อง การทบทวนการอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ ๗ (SDG7) (Ensure access to affordable, reliable, sustainable and modern energy for all) ในการประชุม 2018 High-level political forum on sustainable development (HLPF) เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานร่วมแลกเปลี่ยนพัฒนาการและทิศทางในอนาคตด้านพลังงานของไทย ในการอภิปรายเรื่อง การทบทวนการอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ ๗ (SDG7) (Ensure access to affordable, reliable, sustainable and modern energy for all) ในการประชุม 2018 High-level political forum on sustainable development (HLPF) เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 พ.ย. 2565

| 1,214 view

           ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ร่วมเป็นผู้อภิปรายใน session “Review of SDGs implementaion”, panel discussion on “SDG7- Ensure access to affordable, reliable, sustainable and modern energy for all” ในการประชุม 2018 High-level political forum on sustainable development (HLPF) เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

          ตามคำเชิญของประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เข้าร่วมบรรยายและอภิปรายแลกเปลี่ยนนโยบาย การดำเนินการ และประสบการณ์ของไทยในการอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ ๗ (SDG7) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว โดยเน้นการสร้างการเข้าถึงพลังงานในราคาที่ไม่แพงอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนการผลิตและการอนุรักษ์ ประหยัดพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้หยิบยกความสำเร็จของไทยในการลงทุนและขยายการเข้าถึงไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติในราคาที่ไม่แพงให้ไปถึงทุกชุมชนในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป ไทยจะเดินหน้าเน้นการพัฒนาระบบพลังงานทดแทนสมัยใหม่ ประกอบด้วย พลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ และชีวมวล/ก๊าซชีวภาพ ขับเคลื่อนโดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเพื่อลอยในเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้า การสร้างเครือข่าย โรงงานชีวมวล/ก๊าซชีวภาพ อิสระขนาดเล็ก เพื่อผลักดันการมีส่วนร่วมในระดับครัวเรือนให้สามารถผลิตพลังงาน ทดแทนได้เอง และการเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) ในการเดินทางและ การขนส่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ย้ำด้วยว่า ไทยจะพยายามต่อเนื่องต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการผลักดัน grid parity ที่จะทำให้ตลาดระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สามารถเติบโตได้และมีราคาไม่แพง

          นอกเหนือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กิจกรรมดังกล่าวมีผู้อภิปรายที่สำคัญจากภาคส่วนต่างๆ หลากหลายภูมิภาค อาทิ ประธานบริหาร European Climate Foundation ผู้อำนวยการบริหาร ENERGIA จากแซมเบีย ผู้อำนวยการอาวุโส Energy and Extractive Industries Global Practice ธนาคารโลก โดยในช่วงพิธีเปิดมีการกล่าวเปิดโดยประธาน ECOSOC และในช่วงอภิปราย มีผู้อำนวยการใหญ่ International Renewable Energy Agency (IRENA) เป็นผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งผู้แทนจาก Statistics Division, UN Department of Economic and Social Affairs (UNDESA) ซึ่งได้บรรยายเกี่ยวกับภาพรวมความคืบหน้าในการอนุวัติ SDG7 กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้แทนประเทศต่างๆ องค์การระหว่างประเทศ และ    ภาคประชาสังคม ซึ่งได้ร่วมให้ความเห็น ซักถาม และถกแถลงอย่างกว้างขวาง สะท้อนถึงความสำคัญของการติดตามและทบทวนผลการอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านพลังงาน (SDG๗) ในเชิงลึกในระดับโลก เป็นครั้งแรก ภายหลังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ร่วมกันรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติในปี ๒๕๕๘


          ในโอกาสเดียวกัน ก่อนเริ่มการประชุม ประธาน ECOSOC ได้กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมรัฐบาลไทยที่สามารถช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง ๑๓ คนออกมาจากถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ได้สำเร็จ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ได้กล่าวตอบขอบคุณความช่วยเหลือจากมิตรประเทศและภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งข้อความและกำลังใจที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การช่วยเหลือที่ซับซ้อนดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดี

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ