การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินโดนีเซีย ครั้งที่ ๙

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินโดนีเซีย ครั้งที่ ๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,816 view

            เมื่อวันที่ ๕ – ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission – JC) ไทย – อินโดนีเซีย ครั้งที่ ๙ โดยเป็นประธานร่วมกับนางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย โดยมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศเข้าร่วมด้วย

            ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ความสัมพันธ์ไทย – อินโดนีเซีย มีลักษณะเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” (strategic partnership) ที่ต้องร่วมกันถ่ายทอดผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมสู่ประชาชนอย่างแท้จริง เพราะอินโดนีเซียและไทยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับหนึ่งและสอง รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในอาเซียน จึงต้องใช้ประโยชน์จากศักยภาพนี้ให้เต็มที่เพื่อผลักดันความร่วมมือสำคัญ ดังนี้

            ๑. ด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกระดับ กระชับความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และการต่อต้านแนวคิดสุดโต่ง รวมถึงต่อยอดความสำเร็จของโครงการพัฒนาทางเลือกตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในจังหวัดอาเจะห์ ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๓ ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของอินโดนีเซีย

            ๒. ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สองฝ่ายจะเดินหน้าส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยฝ่ายไทยเสนอให้มีการลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีตามขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และพร้อมที่จะจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้า ครั้งที่ ๑ ภายในปีนี้ รวมทั้งจะส่งเสริมการเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวร่วมกันตามแนวคิด Two Countries, One Destination และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามแนวคิด Trail of Civilization ทั้งสองฝ่ายยังพร้อมที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และนโยบายส่งเสริมบทบาทของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยของไทย

            ๓. ด้านประมง ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเร่งรัดการจัดการประชุมคณะทำงานร่วมด้านประมงเพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือประมงแบบรอบด้าน การทำวิจัยและการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมประมงอินโดนีเซีย รวมทั้งเร่งรัดการจัดทำแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญ

            ๔. ด้านสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ผ่านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การให้ทุนการศึกษา และความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย  โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอินโดนีเซีย

            ๕. ประเด็นระดับภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และแนวคิดอินโด – แปซิฟิก และเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ไทยรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนและอินโดนีเซียจะดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติปี พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๓

            อนึ่ง ก่อนเข้าร่วมการประชุม JC ครั้งที่ ๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสองประเทศได้หารือทวิภาคี โดยฝ่ายไทยได้ขอให้อินโดนีเซียพิจารณาทบทวนมาตรการห้ามนำเข้าลำไยจากไทยในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ๒๕๖๑ และเร่งรัดกระบวนการออกใบอนุญาตให้เรือบรรทุกสัตว์น้ำไทย ๔ ลำที่ติดค้างอยู่ในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เดินทางกลับไทยโดยเร็ว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ