ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CEAPAD ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓

ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CEAPAD ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,099 view

กระทรวงการต่างประเทศไทยและญี่ปุ่นจะร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเพื่อการพัฒนาปาเลสไตน์ ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓ (The Third Ministerial Meeting of the Conference on Cooperation among East Asian Countries for Palestinian Development – CEAPAD III) ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ กรุงเทพมหานคร

การประชุม CEAPAD เกิดจากการริเริ่มของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี ๒๕๕๖ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐปาเลสไตน์ผ่านความร่วมมือและความช่วยเหลือ โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการเสริมสร้างขีดความสามารถในสาขาที่สมาชิก CEAPAD มีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับความต้องการของปาเลสไตน์ อันจะมีส่วนในการสนับสนุนการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางบนพื้นฐานของหลักการ Two-State Solution โดยมีรัฐปาเลสไตน์อยู่เคียงคู่รัฐอิสราเอลอย่างเท่าเทียมกัน

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในกรอบ CEAPAD นับตั้งแต่การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ ๑ ที่กรุงโตเกียว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ โดยไทยมีนโยบายสนับสนุนการแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์ผ่านการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลางและหลักการ Two-State Solution  และได้แสดงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ปาเลสไตน์ รวมทั้งได้ร่วมกับญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อการประสานงานการให้ความช่วยเหลือของ CEAPAD (CEAPAD Aid Coordination Meeting) ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๖ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินโครงการความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีร่วมกับญี่ปุ่นในการให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมในสาขาการท่องเที่ยวให้แก่บุคลากรของปาเลสไตน์ตามคำร้องขอของปาเลสไตน์แล้วหลายครั้ง

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CEAPAD ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓ เป็นการแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในการมีส่วนร่วมพัฒนารัฐปาเลสไตน์ ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ญี่ปุ่น และปาเลสไตน์ จะเป็นประธานร่วมการประชุม  ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยสมาชิก ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East - UNRWA) และผู้สังเกตการณ์จากประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่ได้รับเชิญซึ่งประกอบด้วยอียิปต์ จอร์แดน สันนิบาตอาหรับ และสำนักงานคณะเจรจาสี่ฝ่าย