คำแถลงข่าวโดยนายกรัฐมนตรี การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘

คำแถลงข่าวโดยนายกรัฐมนตรี การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 พ.ย. 2565

| 2,481 view
คำแถลงข่าวโดยนายกรัฐมนตรี
การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘
วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ ห้องบอลล์รูม ส่วนที่ ๒ – ๓ 
โรงแรมแชงกรี-ลา 
********************************
 
๑. ผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ ๘ รวมถึงการประชุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมผู้บริหารระดับสูง ACMECS  (ACMECS CEO Forum) งานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (Gala Dinner) และงานเลี้ยงอาหารกลางวันร่วมกับภาคเอกชน (Interactive Lunch) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุม โดยไทยได้กำหนดหัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายของ ACMECS และทิศทางที่เราจะเดินไปข้างหน้าเพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 
 
๒. ในช่วงเช้าวันนี้ ที่ประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ ได้เริ่มขึ้น โดยในช่วงแรกเป็นช่วงพิธีเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ซึ่งผมได้กล่าวเปิดการประชุม โดยได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ของโลก สภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบัดนี้ ถึงเวลาที่ ACMECS ที่ก่อตั้งมาแล้ว ๑๕ ปี จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายเหล่านี้ ซึ่งหมายถึงการที่พวกเราได้รับรองแผนแม่บท ACMECS ซึ่งร่างโดยฝ่ายไทย อันจะเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของภูมิภาค    แผนแม่บทฯ สะท้อนให้เห็นทิศทางการดำเนินการของ ACMECS ซึ่งสอดคล้องและเกื้อกูลกับนโยบายเศรษฐกิจไทย เช่น นโยบาย Thailand 4.0 และการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) โครงการระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) และจะช่วยให้อนุภูมิภาคของเรา ก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและอุปทานของโลกได้ โดยอาศัยการใช้องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม และการเข้าถึงดิจิทัล รวมทั้งการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามนโยบายประชารัฐ หรือ PPP นอกจากนี้ เป็นที่น่ายินดีที่อนุภูมิภาคของเรา ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศ โดยรวมแล้วมีผู้แสดงความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศ กว่า 30 ภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีจีน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และประธาน AIIB และ ADB ที่ได้ส่งสารแสดงความยินดีต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ของไทย
 
๓. หลังพิธีเปิดการประชุม เราได้หารือกันในกลุ่มเล็ก ซึ่งประกอบด้วยผู้นำทั้ง ๕ ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน  โดยที่ประชุมได้รับรองเอกสาร ๒ ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญากรุงเทพ และแผนแม่บท ACMECS ระยะ ๕ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๓) 
 
๔. ผู้นำทุกท่าน ต่างเห็นพ้องว่าถึงเวลาแล้วที่จะทำการปรับภาพลักษณ์และโครงสร้างของ ACMECS ให้ทันสมัย ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในอนุภูมิภาคและของโลก ซึ่งไทย ในฐานะเจ้าภาพครั้งนี้ มีความภูมิใจเพราะ นอกเหนือจากเป็นประเทศผู้ริเริ่มก่อตั้ง ACMECS เมื่อปี ๒๕๔๖ ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำทุกท่านต่างเห็นชอบ สนับสนุนและชื่นชมไทยที่ได้เสนอแนวคิดที่จะจัดทำแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของ ACMECS ในระยะเวลา ๕ ปี ข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๓” โดยมีเป้าหมาย ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อใน    อนุภูมิภาค โดยเน้นการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ยังขาดหาย (missing links) ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านพลังงาน (๒) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับแก้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน และความร่วมมือทางการเงิน และ (๓) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความร่วมมือในสาขายุทธศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม การเกษตร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) และความมั่นคงไซเบอร์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในสาขาต่าง ๆ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน  
 
๕. ผู้นำ ACMECS ได้เห็นชอบ และสนับสนุนการจัดลำดับความสำคัญในแผนแม่บทฯ โดยให้ดำเนินโครงการตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East-West Economic Corridor - EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor –SEC) ในระยะแรก (Early Harvest/ Phase I) ในช่วง ๒ ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และพลังงาน และการปรับแก้กฎระเบียบและระบบศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของ ACMECS ในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราได้ตั้งเป้าหมายว่าการเชื่อมโยงจะร่นระยะเวลาในการเดินทาง และการขนส่งสินค้า ในเส้นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก จากเวลาเกือบ 5 วัน เป็นเวลา 30 กว่าชั่วโมงให้ได้
 
๖. ผู้นำ ACMECS  เห็นพ้องกันว่า การดำเนินการภายใต้แผนแม่บท ACMECS ควรมีความชัดเจนในเรื่องของแหล่งเงินทุน ในการนี้ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีความยั่งยืน โดยเสนอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินไปร่วมพิจารณารูปแบบการจัดตั้งกองทุน ACMECS เพื่อระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บท ฯ  ทั้งสามเสา โดยประเทศไทยริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้งกองทุน ACMECS ซึ่งไทยจะมอบทุนเริ่มต้นในการก่อตั้งจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐบาล ให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย และได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกให้จัดการประชุมเจ้าหน้าที่การเงินอาวุโส เพื่อหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งและขอบเขตการทำงานของกองทุน ภายในปีนี้ นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นพ้องถึงความสำคัญของบทบาทและการเข้าร่วมสมทบกองทุน จากประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งที่ปัจจุบันมีความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงดั้งเดิม รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งในเอเชีย ยุโรป องค์กรระหว่างประเทศตลอดจนสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยความสมัครใจ 
 
๗. ผมเชื่อมั่นว่า แผนแม่บทนอกจากจะช่วยกำหนดแนวทางความร่วมมือของพวกเราในระยะเวลา ๕ ปีข้างหน้า ให้ไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ ACMECS เป็นประชาคมแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงในห้าปีข้างหน้าและต่อจากนั้นแล้ว ยังจะช่วยเติมเต็มแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) ลดช่องว่างการพัฒนา สนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน กลุ่มผู้นำตั้งใจที่จะสร้างประชาคม ACMECS ที่เกื้อหนุนต่อกระบวนการสร้างประชาคม ASEAN หรือการสร้างประชาคมภายในประชาคม (Community within Community) ตลอดจนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอนาคต เราจะได้เห็น ACMECS เป็นอนุภูมิภาคที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และคนข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค และเป็นอนุภูมิภาคที่เป็นสะพานทางบก (land bridge) ที่แท้จริงที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดของมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกและของเศรษฐกิจอื่น ๆ กับภาคพื้นทวีปเอเชียและของโลก 
 
         ๘. นอกจากแผนแม่บทแล้ว ที่ประชุมยังได้รับรองปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของทั้ง ๕ ประเทศสมาชิกที่จะร่วมมือกันในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win) โดยมีแผนแม่บท ACMECS เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งการกระชับความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนทางการพัฒนารวมทั้งสถาบันการเงิน เพื่อการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บท ที่ประชุมได้แสดงความขอบคุณและชื่นชมไทย ในฐานะประเทศผู้ริเริ่มจัดตั้ง ACMECS และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ ณ กรุงเทพ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า การประชุมดังกล่าวได้นำพา ACMECS ก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง สู่การเป็นประชาคม ACMECS ที่มีความมั่นคง 
มั่งคั่ง และยั่งยืน การประชุมครั้งนี้ยังได้ให้ความสำคัญและเห็นชอบกับนโยบายของไทยที่คำนึงถึงประเทศเพื่อนบ้าน ในการดำเนินกิจกรรมทุกประเภทภายใต้นโยบาย Thailand +1 เพื่อให้ประชาคม ACMECS เป็นประชาคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leaving no one behind) นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีอย่างยิ่งที่กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งต่อไป
 
๙. ในการจัดประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกลไกประชารัฐในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ACMECS เราจึงได้เชิญผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประเทศที่มีศักยภาพในการเข้ามาเป็นประเทศหุ้นส่วนของ ACMECS องค์การระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินต่าง ๆ กว่า ๓๖ ประเทศ/องค์กร เข้าร่วมในกิจกรรมคู่ขนาน ได้แก่ การประชุม ACMECS CEO Forum งานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (Gala Dinner)  และพิธีเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ อย่างเป็นทางการ เมื่อเช้านี้
 
๑๐.  การประชุม ACMECS CEO Forum ช่วงเช้าวานนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เสริมสร้างความเชื่อมโยงทุกมิติ เพื่ออนาคตร่วมกันของสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งผมได้ไปกล่าวเปิดงาน ร่วมกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและประธานาธิบดีเมียนมา และมีการกล่าวปาฐกถาโดยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น JD สถาบันการเงินระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น AIIB และ JBIC ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการผลักดันความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ใน ACMECS ซึ่งต่างเห็นพ้องว่าอนุภูมิภาค ACMECS มีศักยภาพ และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน รวมทั้งชื่นชมข้อริเริ่มในการจัดทำแผนแม่บท ACMECS ภายใต้การเป็นประธานของไทยในปีนี้ พร้อมทั้งยังย้ำความสำคัญของการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การลงทุน ตามนโยบาย PPP รวมทั้งการมีแหล่งเงินทุนมารองรับโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บท ACMECS นอกจากนี้ เป็นที่น่ายินดีว่าบริษัทชั้นนำ สถาบันทางการเงิน ต่างให้การสนับสนุน ACMECS และแผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งพวกเราผู้นำ ACMECS ต่างชื่นชมและเห็นว่าจะทำให้การขับเคลื่อน ACMECS สามารถดำเนินไปอย่างมีทิศทางและอย่างยั่งยืน 
 
๑๑. งานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (Gala Dinner)  เมื่อเย็นวานนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ทำความรู้จักกัน รับประทานอาหารไทย และชื่นชมกับการแสดงที่สะท้อนถึงความสำเร็จและความภาคภูมิใจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความเชื่อมโยงกัน มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน วัฒนธรรมที่มีคุณค่า และธรรมชาติที่สวยงาม มีความพรั่งพร้อมทางการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน มีความสันติสุข มีความเป็นมิตร และมีสังคมที่เอื้ออารี ที่สำคัญที่สุด ACMECS ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ให้ประชาชนของเราเป็นศูนย์กลางและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลัง 
 
๑๒. นอกจากนี้ ภายหลังการแถลงข่าวนี้ ผมจะเป็นเจ้าภาพอาหารกลางวัน ระหว่างผู้นำกับผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนจากประเทศสมาชิก โดยไทยได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของ AIIB JBIC ADB และบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศสมาชิก ACMECS และเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย เพื่อหารือกับภาคเอกชนจากประเทศสมาชิก ACMECS ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกได้คัดสรรผู้แทนภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ จำนวนประเทศละ 5 ราย เข้าร่วม รวมทั้งประเทศพันธมิตร ในการผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันต่อไป การหารือระหว่างอาหารกลางวันจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอนุภูมิภาคนี้ที่ผู้นำได้มีโอกาสหารือกับภาคธุรกิจที่มีศักยภาพสูงสุด ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ฉันท์มิตร และมีการหารือกันอย่างตรงไปตรงมา
 
๑๓.  ทุกท่านครับ  ในนามของรัฐบาลไทย ผมขอขอบคุณท่านผู้นำทุกท่านที่ให้การสนับสนุนไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ ๘ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานและประชาชนไทยที่ให้ความร่วมมือในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ทำให้การประชุมประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขอบคุณพวกท่าน สื่อมวลชนจากที่ต่าง ๆ ที่ได้ให้ความสนใจติดตามและรายงานข่าวการจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ นับตั้งแต่ก่อนการประชุมและระหว่างการประชุม ผมขอเรียนด้วยว่า เราประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำ (Summit) มาแล้ว 2 ครั้ง คือ ACD ในปี 2559 และ ACMECS ในครั้งนี้ ไทยจะยังเป็นเจ้าภาพการประชุมที่ทั่วโลกจะจับตามองอีก 2 การประชุมใหญ่ คือ ASEAN Summit 
ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพตลอดปี 2562 และการประชุมเอเปคในปี 2565
 
๑๔.  ผมขอเรียนให้พวกท่านทราบว่า พวกเราผู้นำ จะร่วมช่วยผลักดันความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของเราให้ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง มั่นคั่งและยั่งยืน เพื่อความผาสุกของประชาชน อนุภูมิภาค อาเซียน และประชาคมโลก ต่อไป