ไทยเชื่อมั่นอุตสาหกรรมทูน่าไทยปลอด IUU

ไทยเชื่อมั่นอุตสาหกรรมทูน่าไทยปลอด IUU

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,445 view
          เมื่อวันที่ ๒๘ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและนิทรรศการการค้าทูน่าโลก ครั้งที่ ๑๕ (15th INFOFISH World Tuna Trade Conference and Exhibition) ที่กรุงเทพฯ ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศด้านข่าวสารการตลาดและบริการแนะแนวด้านเทคนิคของสินค้าสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (INFOFISH) สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และองค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ คณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) คณะกรรมาธิการปลาทูน่าเขตร้อนทวีปอเมริกา (IATTC) และคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (WCPFC) ซึ่งไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวเป็นครั้งที่ ๗ แล้ว โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากแวดวงอุตสาหกรรมทูน่าจำนวนมากกว่า ๖๐๐ คน จาก ๗๐ ประเทศทั่วโลก
          รัฐบาลไทยได้ย้ำความมุ่งมั่นต่อที่ประชุมที่จะส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากปลาทูน่าของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และการขจัดการทำประมง IUU โดยในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ไทยได้ปรับปรุงกฎหมายประมง เพิ่มมาตรการตรวจสอบเรือประมงนอกน่านน้ำ จัดตั้งกลไกติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังที่เป็นระบบ พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดสายการผลิตทูน่าแปรรูป และทำความตกลงกับประเทศคู่ค้าที่ไทยนำเข้าปลาทูน่าแช่แข็ง เพื่อประกันว่าปลาทูน่าที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตนั้นมาจากการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการใช้แรงงานอย่างถูกต้อง
          สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยได้เน้นการส่งเสริมให้สมาชิกใช้วัตถุดิบสัตว์น้ำจากแหล่งที่ถูกกฎหมาย โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตามหลักสากลและกฎหมายไทย และได้ร่วมต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ โดยส่งเสริมให้สมาชิกนำแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีมาใช้ในโรงงานและห่วงโซ่การผลิต รวมถึงสนับสนุนให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เสมอภาค เข้มงวดและจริงจังกับเรือประมงทุกลำที่กระทำผิดกฎหมาย ตลอดจนสนับสนุนคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสภาพการทำงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวของสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยได้รับการยอมรับโดยคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ ซึ่งเดินทางเยือนไทยเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วย
          ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าปลาทูน่าแช่แข็งอันดับหนึ่งของโลก และส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าแปรรูปรายใหญ่ของโลก ประเทศไทยพร้อมที่จะมีส่วนรับผิดชอบในการประมงอย่างยั่งยืนร่วมกับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากการประชุมและนิทรรศการการค้าทูน่าโลก ครั้งที่ ๑๕ แล้ว ประเทศไทยยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) ครั้งที่ ๒๒ เมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่กรุงเทพฯ เพื่อแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในการทบทวนมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรปลาทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่าให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมทูน่าของไทยทั้งระบบให้เกิดความยั่งยืน