เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นาย Gabriel Mato และนาง Clara Eugenia Aguilera Garcia สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการประมง (European Parliament's Committee on Fisheries – PECH) ของสภายุโรปชาวสเปน ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเดินทาง
มาเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๒๒ (The 22nd Session of the Indian Ocean Tuna Commission – IOTC) ซึ่งกรมประมงเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าการปฏิรูปภาคประมงของไทย
รองนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้สมาชิกสภายุโรปทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งดำเนินมากว่า ๓ ปี และมีความคืบหน้าเป็นอย่างมากในหลายด้าน โดยได้มีการแก้ไขกฎหมายการประมง การกำหนดขนาดกองเรือที่เหมาะสม การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่รวดเร็วและเข้มงวด ทั้งในด้านอาญาและด้านปกครอง ส่งผลให้มีการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงและการใช้แรงงานประมงอย่างผิดกฎหมายถึง ๔,๔๒๗ คดี ซึ่งในจำนวนนี้ มีคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จถึงร้อยละ ๘๘ รวมทั้งมีเรือประมงนอกน่านน้ำหลายลำที่ทำผิดกฎหมาย ได้รับการตัดสินลงโทษรวมค่าปรับสูงกว่า ๔๐๐ ล้านบาทด้วย
รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่จะเป็นประเทศปลอดสัตว์น้ำและสินค้าประมงผิดกฎหมาย (IUU-free Thailand) และเพื่อการประมงอย่างยั่งยืน โดยจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ ไทยพร้อมแล้วที่จะมีบทบาทนำในการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมายในภูมิภาค โดยไทยได้ริเริ่มผลักดันนโยบายประมงร่วมอาเซียนแล้ว และจะผลักดันความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเต็มที่ในช่วงที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ด้วย ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมทำงานกับสหภาพยุโรปเพื่อการประมงที่ยั่งยืนของไทยและของภูมิภาค
นาย Mato และนาง Aguilera ได้แสดงความชื่นชมพัฒนาการการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU โดยหลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (Fisheries Monitoring Center – FMC) ที่กรมประมงเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ก็ได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของระบบติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังของศูนย์ FMC โดยเฉพาะการทำงานของระบบติดตามเรือประมง (Vessel monitoring system – VMS) ที่มีการเชื่อมโยงกับระบบการรายงานและควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งติดตั้งเพิ่มเติมบนเรือประมงนอกน่านน้ำ การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับทั้งสัตว์น้ำไทยและที่นำเข้าจากต่างประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์แจ้งการเข้า-ออกเรือประมง ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยมีทิศทางการทำงานที่ถูกต้องในการเข้าสู่เป้าหมายของการทำการประมงอย่างยั่งยืน และความก้าวหน้าของประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคได้
นอกจากนี้ สมาชิกสภายุโรปทั้งสองคนยังยินดีที่ได้รับทราบถึงมาตรการคุ้มครองแรงงานภาคประมงของไทย และการที่ไทยมีแผนที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างเทศที่เกี่ยวข้องในช่วงปีนี้ ซึ่งสหภาพยุโรปพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการบรรลุเป้าหมายการประมงอย่างยั่งยืนต่อไป