ข้อชี้แจงต่อจดหมายเปิดผนึกของ Human Rights Watch กรณีการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง

ข้อชี้แจงต่อจดหมายเปิดผนึกของ Human Rights Watch กรณีการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 เม.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,654 view
          ตามที่องค์กร Human Rights Watch (HRW) ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๑ เรื่องการปฏิรูปแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงของไทย กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณ HRW ที่ติดตามสถานการณ์แรงงานภาคประมงของไทยอย่างใกล้ชิด และยอมรับถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงานในหลายด้าน ส่งผลให้ภาพรวมสถานการณ์แรงงานประมงของไทยในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจ และยังคงพยายามปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้แรงงานภาคประมงได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายอย่างเต็มที่ โดยมีความคืบหน้าในประเด็นที่ HRW ให้ความสำคัญ ดังนี้
          ๑. การบังคับใช้กฎหมาย ในช่วงตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ - มีนาคม ๒๕๖๑ ประเทศไทยได้ดำเนินคดีความผิดฐานค้ามนุษย์ภาคประมง จำนวน ๘๗ คดี และคดีการละเมิดสิทธิแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น ๕๐๓ คดี หรือร้อยละ ๑๑ ของจำนวนเรือและสถานประกอบการที่ได้รับการตรวจทั้งหมด ทั้งนี้ หากพนักงานตรวจแรงงานพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กต่ำกว่า ๑๘ ปี หรือมีการใช้แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จะดำเนินการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในทันที ล่าสุด ไทยได้จัดตั้งทีมตรวจจับพิเศษทางทะเล โดยในการออกปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๑ ทีมตรวจจับพิเศษสามารถจับกุมเรือไทยและเรือต่างชาติที่กระทำผิดกฎหมายประมงและกฎหมายแรงงานได้ถึง ๕๐ คดี ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางปกครอง
          ๒. การตรวจแรงงาน  กระทรวงแรงงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ร่วมกันพัฒนาคู่มือการตรวจแรงงานทั้งที่ท่าเรือ กลางทะเล และโรงงานแปรรูป ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้ใช้คู่มือในการตรวจสอบทุกขั้นตอน ส่งผลให้มีสถิติการจับกุมข้างต้นเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มจำนวนผู้ตรวจที่ศูนย์ PIPO ให้ถึงเกือบหนึ่งเท่า พร้อมการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีการสแกนม่านตา ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้าง ใบอนุญาตทำงาน หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ตลอดจนมีการสัมภาษณ์แรงงานประมงกลุ่มเสี่ยงทุกคนด้วยแบบคัดกรองเบื้องต้น โดยจะสัมภาษณ์ร่วมกับล่าม และแยกแรงงานออกจากเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง หรือหัวหน้าคนงาน ซึ่งจากการสัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวในภาคประมงที่ศูนย์ PIPO ใน ๒๒ จังหวัดชายทะเลช่วงปี ๒๕๖๐ จำนวน ๔๖,๒๖๙ คน พบแรงงานได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจำนวน ๓,๒๒๒ คน ซึ่งได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อนายจ้างแล้ว
               นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังร่วมกับองค์การ ILO จัดอบรมการตรวจแรงงานภาคประมงและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ศูนย์ PIPO อย่างสม่ำเสมอ และยังมีโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านคุ้มครองแรงงานในการทำงานเป็นทีมร่วมกับองค์การ ILO ภายใต้โครงการ Ship to Shore Right และองค์กร NGOs ซึ่งรวมถึงศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล และมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ประจำประเทศไทยด้วย 
          ๓. การสร้างความตระหนักรู้ กระทรวงแรงงานได้เผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน รวมถึงช่องทางร้องเรียน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะในภาคประมง มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ  ได้แก่ สื่อออนไลน์ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สปอตโฆษณา แผ่นพับ และเอกสารอื่น ๆ ในภาษาของแรงงานต่างด้าว โดยในปี ๒๕๖๐ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ ๑๒,๓๗๑,๐๒๕ คน เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๙ ซึ่งมีประมาณ ๑๓๐,๔๐๐ คน เพิ่มขึ้นมากถึง ๙๔ เท่า
          ๔. กลไกร้องเรียน  ไทยได้พัฒนาช่องทางการร้องเรียนด้านแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแรงงานต่างด้าวสามารถเข้าถึงได้ทั้งช่องทางของภาครัฐและ NGOs โดยมีบริการสายด่วนต่าง ๆ ซึ่งให้บริการเป็นภาษาเมียนมา กัมพูชา และอังกฤษ ซึ่งเมื่อได้รับการร้องเรียนของลูกจ้างผ่านสายด่วนต่าง ๆ กระทรวงแรงงานจะจัดส่งข้อร้องเรียนให้ผู้ตรวจแรงงานดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ สถานประกอบกิจการที่ถูกร้องเรียน โดยไม่แจ้งข้อมูลของลูกจ้างให้นายจ้างทราบ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้นายจ้างกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิด หรือลิดรอนสิทธิของลูกจ้าง ในกรณีที่เป็นการร้องเรียนของแรงงานประมง จะมีการส่งข้อร้องเรียนไปยังศูนย์ PIPO และทีมตรวจจับพิเศษทางทะเลเพื่อตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก โดยเจ้าของเรือจะไม่มีทางทราบได้ว่าลูกเรือคนใดเป็นผู้ร้องเรียน
          ๕. การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะยกระดับการคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและขจัดแรงงานบังคับ พ.ศ. .... เพื่อรองรับการให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ และร่าง พ.ร.บ. แรงงานประมงทะเล พ.ศ. .... เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล และอยู่ระหว่างการปรับปรุง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. .... เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๑
          ทั้งนี้ ในกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายข้างต้น ได้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายหลายรอบ รวมถึงได้มีการเชิญองค์การ ILO และ NGOs อาทิ EJF และ HRW เข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำในการยกร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ได้นำข้อคิดเห็นไปปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่ามีความสอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
          รัฐบาลไทยขอย้ำว่า การแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะปรับปรุงกลไกแก้ไขปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงของไทยมีความยั่งยืนและสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน