ความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำของไทย

ความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 เม.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,435 view

ไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่ทำการประมงและเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าสัตว์น้ำแปรรูปขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้มุ่งมั่นพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับของสัตว์น้ำที่มาเทียบท่าหรือแปรรูป เพื่อให้มั่นใจว่าตลอดสายการผลิตและแปรรูปอาหารทะเลของไทยจะปราศจากสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

ปัจจุบันไทยได้พัฒนาระบบ Thai Flagged Catch Certification System เพื่อตรวจสอบสัตว์น้ำที่มาจากเรือไทย และระบบ PPS (PSM linked and Processing Statement System) เพื่อตรวจสอบสัตว์น้ำจากเรือต่างชาติ โดยหลักการทำงานที่สำคัญของระบบดังกล่าว คือ การจัดทำระบบฐานข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำอย่างละเอียดทุกขั้นตอน รวมถึงมีระบบอัตโนมัติที่ช่วยแจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติของข้อมูลในแต่ละขั้นตอน นับตั้งแต่การนำสัตว์น้ำมาขึ้นท่าจนถึงกระบวนการแปรรูป เพื่อให้มั่นใจว่า สัตว์น้ำดังกล่าวมิได้มาจากการทำประมง IUU

สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำจากเรือไทยนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจที่มาของการทำประมง การตรวจสอบชนิดและน้ำหนักสัตว์น้ำในสมุดบันทึกทำการประมงเทียบกับชนิดและน้ำหนักสัตว์น้ำที่ขึ้นท่า และการจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ การตรวจสอบน้ำหนักสัตว์น้ำที่ใช้ในการแปรรูปหรือส่งออกโดยระบบจะตัดจากยอดน้ำหนักคงเหลือเพื่อป้องกันมิให้มีการลักลอบนำสัตว์น้ำที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบเข้ามาในระบบ และการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) ว่ามิได้เกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU สำหรับส่งออกไปยังประเทศที่สาม

ในส่วนของสัตว์น้ำจากเรือต่างชาตินั้น โดยที่ไทยมีความรับผิดชอบตามความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า เรือต่างชาติทั้งหมดที่จะนำสัตว์น้ำมาขึ้นท่าที่ไทยต้องผ่านการตรวจสอบเอกสารประกอบคำร้องขอนำเรือประมงต่างประเทศเข้าเทียบท่า ซึ่งรวมถึงใบรับรองการจับสัตว์น้ำจากรัฐเจ้าของธง การตรวจสอบเรือ ตรวจสอบชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่ขนถ่าย ณ ท่าเทียบเรือ เปรียบเทียบกับชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่โรงงานแปรรูปรับเข้าผลิต ตรวจสอบน้ำหนักสัตว์น้ำที่ใช้ในการแปรรูปหรือส่งออก โดยระบบจะตัดจากยอดน้ำหนักคงเหลือเพื่อป้องกันมิให้มีการลักลอบนำสัตว์น้ำที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบเข้ามาในระบบ และการออกใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Processing Statement) ว่ามิได้เกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU สำหรับส่งออกไปยังประเทศที่สาม

นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการตรวจสอบย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ และการจัดทำ mobile application สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลการขนถ่ายสัตว์น้ำจากเรือไปยังหน้าท่าและไปสู่โรงงาน เพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสาร รวมถึงการพัฒนามาตรการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำทางตู้คอนเทนเนอร์ รถบรรทุก และทางอากาศ เพื่อลดโอกาสในการลักลอบนำสัตว์น้ำผิดกฎหมายเข้ามาสู่สายการผลิตในไทยอีกด้วย

การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของการปฏิรูปภาคประมงของไทย ซึ่งขณะนี้ระบบได้ดำเนินการเต็มรูปแบบแล้ว และจะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่จะเป็นประเทศปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงที่มาจากการทำประมง IUU และเป็นแบบอย่างที่ดีของการป้องกันปัญหาประมง IUU ในภูมิภาคต่อไป