ไทยออกระเบียบบังคับการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงเป็นรายดือนและผ่านระบบธนาคาร

ไทยออกระเบียบบังคับการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงเป็นรายดือนและผ่านระบบธนาคาร

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 มี.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,157 view

เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้จ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเลเป็นรายเดือนผ่านบัญชีธนาคาร และกำหนดให้นายจ้างที่ทำการประมงในทะเลนอกน่านน้ำไทย ต้องจัดให้มีอุปกรณ์สื่อสารให้ลูกจ้างแรงงานประมงติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายในครอบครัวได้ในระหว่างที่ออกทะเล

ตามระเบียบเดิมกำหนดให้วิธีการจ่ายเงินเดือนขึ้นอยู่กับนายจ้าง แต่ตามระเบียบใหม่บังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเลเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมาย โดยคูณด้วย ๓๐ วัน และต้องจ่ายผ่านช่องทางธนาคาร เพื่อความโปร่งใสในการจ่ายค่าจ้างและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันปัญหาการหักค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และช่วยแก้ปัญหาเรื่องนายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลาและไม่ตรงกับค่าแรงจริง

ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานได้เตรียมการรองรับการบังคับใช้ระเบียบใหม่ โดยได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์และสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ในการเพิ่มจำนวนเครื่อง ATM จำนวนกว่า ๘๐ ตู้ ที่มีภาษาของแรงงานต่างด้าว บริเวณท่าเรือประมง แพปลา ศูนย์ควบคุมแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ๓๒ ศูนย์ ใน ๒๒ จังหวัดชายทะเล และแหล่งชุมชนที่พักอาศัยของลูกจ้างต่างด้าว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานในการรับเงินผ่านเครื่อง ATM ตลอดจนร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดบัญชีธนาคารของลูกจ้างต่างด้าว เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับข้อบังคับการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเล โดยได้ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการจัดทำสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เผยแพร่ให้แรงงานต่างด้าวรับทราบในภาษาของแรงงานต่างด้าว และได้จัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้ว ๓ ครั้ง เพื่อให้ความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แบบสัญญาจ้างลูกจ้างประมง การจัดทำบัญชีการจ่ายค่าจ้าง เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่เจ้าของเรือ สมาคมประมง ผู้ประกอบการประมงทะเล และธนาคารพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ในเขตจังหวัดชายทะเล ๒๒ จังหวัด โดยมีผู้เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น ๗๖๐ คน

ในส่วนของการกำหนดให้นายจ้างที่ทำการประมงในทะเลนอกน่านน้ำไทยต้องจัดให้มีอุปกรณ์สื่อสารสำหรับลูกจ้างแรงงานประมงให้สามารถติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่และบุคคลภายในครอบครัวได้ในระหว่างที่ออกทะเลนั้น นับเป็นหนึ่งในกลไกที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกเรือ และคุ้มครองแรงงานประมงให้มีช่องทางในการติดต่อสื่อสาร แจ้งเรื่องราวความเดือดร้อนและร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะคุ้มครองแรงงานในภาคประมงทะเลมิให้ตกเป็นเหยื่อแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ และทําให้การบริหารจัดการแรงงานในงานประมงทะเลของไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการทำงานในภาคประมง (C188) ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเป็นภาคีด้วย