เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุม Asia – Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ ๕ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงความสำคัญของเวที APFSD ต่อการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ประเทศต่าง ๆ ต้องเพิ่มการดำเนินการให้มากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพด้วย ประเทศไทยเห็นความสำคัญของการสร้างสังคมให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงโดยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง (๑) การส่งเสริมให้ชุมชนสามารถรับมือกับภัยพิบัติ (๒) การเสริมพลังชุมชน (๓) การสร้างความเข้มแข็งให้กับเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนา (Means of Implementation) อาทิ ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือและเครือข่ายระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (๔) การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยกตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบการทำงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๑๗ ที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค
หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เยี่ยมชมนิทรรศการที่หน่วยงานสหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ จัดแสดงเกี่ยวกับประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ได้นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของไทยในโครงการบ้านมั่นคงที่เมืองชุมแพ และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมนำเสนอการส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs Partnership)
สำหรับการประชุม APFSD ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ – ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ภายใต้หัวข้อ“Transformation towards sustainable and resilient societies” หรือการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ยั่งยืนที่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง โดยจะหารือเชิงลึกเพื่อทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๖ (การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่ยั่งยืน) ๗ (พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้) ๑๑ (เมืองและชุมชนยั่งยืน) ๑๒ (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) ๑๕ (ระบบนิเวศทางบก) และ ๑๗ (หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างกันของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง ๑๗ เป้าหมาย ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงของรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมประมาณ ๓๐๐ – ๔๐๐ คน
อนึ่ง การประชุม APFSD เป็นเวทีหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ รวมทั้งตัวอย่างความสำเร็จและความท้าทาย อีกทั้งเป็นการประชุมประจำปีระดับภูมิภาคเพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High – level Political Forum on Sustainable Development – HLPF) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก