เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑ อธิบดีกรมสารนิเทศและนาย Graeme John Buckley ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) ประจำประเทศไทย กัมพูชาและ สปป. ลาว ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
อธิบดีกรมสารนิเทศกล่าวถึงโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินการของไทย ทั้งในด้านการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย การเสริมสร้างศักยภาพด้านการตรวจแรงงาน อย่างไรก็ดี ผลงานวิจัยข้อมูลพื้นฐาน (Baseline Research) ของโครงการดังกล่าวมาจากการสุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์แรงงานที่จำกัด และเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานตั้งต้นซึ่งการศึกษายังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงยังไม่สามารถสะท้อนสถานะปัจจุบันของภาคการประมงและการแปรรูปอาหารในภาพรวมได้ นอกจากนี้ ในประเด็นที่อาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนสืบเนื่องจากที่งานวิจัยระบุเกี่ยวกับการสัมภาษณ์แรงงานที่ทำงานบนเรือประมงที่ออกทะเลระยะสั้น และไม่ครอบคลุมแรงงานบนเรือประมงที่ออกทะเลเป็นเวลานานและที่ทำงานนอกน่านน้ำไทย นั้น อธิบดีกรมสารนิเทศได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่า ทางการไทยยังมิได้ออกใบอนุญาตให้เรือประมงลำใดออกไปทำประมงนอกน่านน้ำนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งรวมถึงช่วงเวลาที่มีการสำรวจข้อมูลสำหรับงานวิจัยดังกล่าวด้วย
ผู้อำนวยการ ILO บรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานไทย ILO และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสหภาพยุโรป โดยตอบสนองต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิแรงงานมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมุ่งพัฒนากฎหมายให้มีความเข้มแข็งและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในด้านแรงงาน และการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการจัดการแรงงานให้มีความตระหนักรู้และเข้าใจถึงสิทธิของตน รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (good labour practice) บนเรือประมงและภาคการแปรรูปอาหารทะเล อย่างไรก็ดี งานวิจัยเบื้องต้นเป็นการสร้างมาตรฐานตั้งต้น (benchmark) สำหรับการวัดพัฒนาการความก้าวหน้าของโครงการ และความคืบหน้าของการดำเนินการด้านแรงงานในภาคประมง แต่มีข้อจำกัดด้านจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบด้วยแรงงาน ๔๓๔ คน ใน ๑๑ จังหวัด จึงมิได้สะท้อนภาพรวมของสถานการณ์แรงงานภาคประมงทั้งหมด
ผู้อำนวยการ ILO ยังกล่าวถึงพัฒนาการสำคัญด้านนโยบาย ตลอดจนการออกกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ ๆ ซึ่งผลงานวิจัยได้ระบุสถานการณ์แรงงานประมงของไทยมีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาแรงงานที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ การทำสัญญาจ้างให้แรงงาน ตลอดจนการเพิ่มค่าแรง โดยโครงการดังกล่าวยังเน้นการพัฒนาด้านการจ่ายค่าจ้างแรงงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และแก้ไขปัญหาการไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แรงงานด้วย อนึ่ง ผู้อำนวยการ ILO ได้ระบุถึงความร่วมมือระหว่าง ILO และทางการไทย เพื่อรับรองการให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ซึ่งมีความคืบหน้าที่ดีเป็นลำดับ
ในช่วงการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมการแถลงข่าวได้ซักถามและแสดงความคิดเห็น ผู้อำนวยการ ILO ได้ระบุถึงความท้าทายและอุปสรรคของการตรวจแรงงาน โดยเฉพาะเมื่อต้องทำการตรวจแรงงานในท้องทะเล โครงการฯ จึงให้ความสำคัญกับประเด็นเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจแรงงาน และรับทราบว่าไทยมีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานด้วย นอกจากนี้ ยังได้ระบุถึงประเด็นที่ทางการไทยควรให้ความสำคัญลำดับต้นนอกจากการเพิ่มศักยภาพและจำนวนผู้ตรวจแรงงานแล้ว คือการส่งเสริมความร่วมมือ การประสานงาน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพของแรงงานให้มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน
โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งเป็นหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม โดยสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจะสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและพัฒนาให้การดำเนินการในภาคประมงของไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและมีความยั่งยืนต่อไป