ไทยยกเลิกข้อจำกัดการเปลี่ยนนายจ้าง สถานที่ทำงาน และประเภทงานให้กับแรงงานต่างด้าว

ไทยยกเลิกข้อจำกัดการเปลี่ยนนายจ้าง สถานที่ทำงาน และประเภทงานให้กับแรงงานต่างด้าว

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มี.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 7,185 view
          เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๑ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยได้กำหนดกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน การทำงานของคนต่างด้าว การรับคนต่างด้าวเข้าทำงาน ให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับปรุงอัตราโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน 
          ในประเด็นการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานต่างด้าว ร่าง พ.ร.ก. ฉบับแก้ไขได้เปลี่ยนจากการใช้ระบบอนุญาตในบางเรื่องมาเป็นระบบแจ้งให้ทราบ เพื่อลดระยะเวลาและอำนวยความสะดวกแก่ทั้งคนงานต่างด้าวและนายจ้าง ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนนายจ้าง การเปลี่ยนประเภทงาน การเปลี่ยนสถานที่ทำงานของแรงงานต่างด้าว และการจ้างคนงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องเข้าทำงาน จากเดิมที่ต้องขออนุญาต แต่เมื่อร่าง พ.ร.ก. ฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ จะเป็นเพียงการแจ้งให้นายทะเบียนรับทราบเท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าว โดยไม่กำหนดหรือจำกัดว่าแรงงานต่างด้าวต้องทำงานอยู่เฉพาะในพื้นที่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น
          ในประเด็นการปรับปรุงแก้ไขบทลงโทษและมาตรฐานของผู้กระทำผิด ได้ยกเลิกโทษจำคุกแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต และลดโทษปรับลงให้เหมาะสม ส่วนนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จะมีโทษปรับตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อแรงงานต่างด้าว ๑ คน และหากนายจ้างทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ – ๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อแรงงานต่างด้าว ๑ คน รวมทั้งห้ามนายจ้างที่กระทำผิดซ้ำ จ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานเป็นเวลา ๓ ปี
          นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.ก. ฉบับแก้ไขได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองแรงงานและสร้างความมั่นใจต่อความโปร่งใสในการดำเนินการของบริษัทนายหน้าที่นำเข้าแรงงานและของนายจ้าง อาทิ กำหนดให้บริษัทนายหน้าต้องมีสัญญานำคนต่างด้าวมาทำงานกับผู้ที่จะเป็นนายจ้างก่อน จึงสามารถนำแรงงานเข้ามาได้ ห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงาน ยกเว้นค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ และค่าใบอนุญาตทำงาน ซึ่งทั้งหมดมีการกำหนดราคาไว้อย่างชัดเจน 
          ในโอกาสเดียวกัน คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ (พ.ศ....) เพื่อปรับการจำกัดขอบเขตของการทำงานของแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ โดยการยกเลิกการห้ามคนต่างด้าวเข้ามามีอาชีพเป็นกรรมกร หรือรับจ้างทำงานด้วยกำลังกายด้วย
          ทั้งนี้ ก่อนการเสนอแก้ไข พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลไทยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเชิญผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมยกร่างเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องเหมาะสม และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าวเกิดประสิทธิภาพสูงสุด