รัฐบาลไทยเพิ่มความเข้มงวดการเฝ้าระวังของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) โดยได้จัดตั้งชุดตรวจสอบเคลื่อนที่ที่เรียกว่า “Flying Inspection Team” หรือ FIT จำนวน ๔ ชุด ชุดละ ๘ คน ซึ่งเป็นการสนธิกำลังของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเรือจากส่วนกลาง ๖ หน่วยงาน ได้แก่ กองทัพเรือ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการสุ่มตรวจเรือคู่ขนานไปกับการตรวจของศูนย์ PIPO จำนวน ๓๑ แห่ง ใน ๒๒ จังหวัดชายทะเล ซึ่งเป็นการสอบยันประสิทธิภาพของการตรวจสอบของศูนย์ PIPO อีกชั้นหนึ่ง
กระบวนการตรวจของ FIT จะดำเนินตามคู่มือการตรวจของศูนย์ PIPO ซึ่งรวมถึงการตรวจเอกสารประจำเรือ เครื่องมือประมงและสัตว์น้ำบนเรือ และแรงงานบนเรือประมง ผลการปฏิบัติงานของชุดตรวจ FIT ระหว่างวันที่ ๒๙ มกราคม – ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มีการปฏิเสธไม่อนุญาตให้เรือออกจำนวน ๘ ลำ ซึ่งพบหลักฐานบนเรือ เช่น หมายเลขประจำตัวของลูกเรือ และหมายเลขอุปกรณ์ VMS ไม่ตรงกับเอกสารที่ยื่นให้ศูนย์ PIPO ซึ่งได้มีการตรวจสอบความไม่สอดคล้องดังกล่าว เพื่อแจ้งความดำเนินคดี และพบเรือเข้ากระทำความผิด ๑ ลำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินมาตรการทางปกครองกับเรือดังกล่าว โทษฐานไม่กรอกข้อมูลในสมุดบันทึกทำการประมง ซึ่งได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ผลการตรวจสอบของ FIT ในช่วงแรกยังคงปรากฎผลที่สอดคล้องกับผลการตรวจของศูนย์ PIPO
ผลการตรวจของ FIT ยังได้นำมาสู่การประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของศูนย์ PIPO ต่าง ๆ และการจัดกลุ่มศูนย์ PIPO ตามลำดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำแผนปรับปรุงการดำเนินงานของศูนย์ PIPO ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มต่อไป นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนปรับปรุงจำนวนบุคลากรประจำศูนย์ PIPO ให้สอดคล้องกับจำนวนการแจ้งเข้า – ออกของเรือ และเพิ่มการอบรมบุคลากรสหวิชาชีพของศูนย์ PIPO ตลอดจนพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานให้รัดกุม เพื่อให้การตรวจสอบมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีมาตรฐานเดียวกันและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยชุดตรวจ FIT จากส่วนกลางจะยังคงทำหน้าที่สอบยันการตรวจกับศูนย์ PIPO และจะนำความแตกต่างของตรวจที่พบมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ PIPO ต่อไปด้วย
มาตรการข้างต้นเป็นไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการตรวจสอบและเฝ้าระวังของศูนย์ PIPO เพื่อให้มั่นใจว่าเรือที่เข้าและออกท่าประเทศไทย เป็นเรือประมงที่ถูกกฎหมายและมีการใช้แรงงานที่ถูกต้อง ซึ่งจะไปเสริมกับการทำงานของระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้มั่นใจว่าไทยจะปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงและแรงงานผิดกฎหมาย