การตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ณ จังหวัดชลบุรี

การตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ณ จังหวัดชลบุรี

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,422 view
          ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการดำเนินการควบคุมการทำประมงของเรือประมงไทย ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) จังหวัดชลบุรี และท่าเทียบเรือสะพานปลาคณาศรีนุวัติ ตลอดจนการตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้าจากต่างประเทศทางตู้คอนเทนเนอร์ ณ ด่านตรวจสัตว์น้ำ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยได้ติดตามความคืบหน้าในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 
          ๑. ความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานกระบวนการต่าง ๆ ของการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายของประเทศไทย เพื่อให้มีความชัดเจนและเข้มข้นตามมาตรฐานการปฏิบัติงานในการบริหารจัดการประมงไว้ให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรและปราศจากการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยได้ติดตามการดำเนินการควบคุมการทำการประมงของเรือประมงไทยผ่านศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO Control Center) ในด้านการตรวจการเข้าออกของเรือประมง ซึ่งในการดำเนินงานขั้นตอนต่าง ๆ เจ้าหน้าที่จากสหวิชาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมจัดหางาน กรมการปกครอง และกองบังคับการตำรวจน้ำ จะร่วมกันพิจารณาอนุญาตให้เรือออกไปทำการประมงและกลับเข้าเทียบท่าหลังจากการทำประมงตามกฎหมายกำหนด โดยจะมีการตรวจเอกสาร ตรวจลูกเรือประมง ตรวจเรือประมงที่จะต้องติด VMS รวมทั้งการตรวจสอบในประเด็นความปลอดภัย สุขอนามัย สวัสดิภาพของคนประจำเรือ ทั้งขาไปและกลับทุกครั้ง 
          ๒. กระบวนการตรวจสอบและอนุญาตให้นำสัตว์น้ำขึ้นท่า การตรวจสอบชนิดและน้ำหนักสัตว์น้ำขึ้นท่า การตรวจประเมิน (Audit) ท่าเทียบเรือ การปฏิบัติงานของท่าเทียบเรือ ซึ่งสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทยได้มีการจัดวางระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงทะเลได้ตลอดสายการผลิต (Supply Chain) ตั้งแต่สัตว์น้ำที่จับได้ต้องมีการจดบันทึกการทำประมง (logbook) ตามความเป็นจริงทุกครั้ง และมีรายละเอียดของชนิดสัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ บริเวณที่จับ เครื่องมือทำการประมง และเมื่อนำสัตว์น้ำขึ้นที่ท่าเทียบเรือ จะต้องมีการคัดแยกและชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำรายชนิด โดยเมื่อมีการซื้อขายสัตว์น้ำ จะต้องกรอกข้อมูลชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่ซื้อขายในเอกสารกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document - MCPD) เพื่อให้มีข้อมูลในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำในทุกขั้นตอนตลอดสายการผลิต 
          ๓. กระบวนการตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งได้เห็นกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าทางตู้คอนเทนเนอร์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตนำเข้าสินค้าต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการที่นำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ ต้องขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ ซึ่งด่านตรวจสัตว์น้ำของกรมประมงจะตรวจสอบเอกสารและสัตว์น้ำ อาทิ Catch Certificate, Certificate of Origin และ Customs Clearance หากข้อมูลถูกต้อง จึงจะอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ จากนั้นยังได้ดูการตรวจสอบควบคุมสินค้าประมงที่นำเข้าทางตู้คอนเทนเนอร์โดยตรวจสอบด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ และการออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำนำเข้า (Import movement document - IMD) ให้กับผู้นำเข้าสัตว์น้ำด้วย 
          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นย้ำถึงการดำเนินการอย่างเข้มงวดทั้งในเรื่องของการควบคุมการทำการประมงของเรือประมงไทยและการตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้าจากต่างประเทศทางตู้คอนเทนเนอร์ และการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการประมงตลอดสายการผลิต เพื่อความร่วมมือในการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยสินค้าประมงจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดเส้นทางในทุกกระบวนการ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนานาประเทศว่าประเทศไทยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย และมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้ทรัพยากรประมงมีเพียงพอ และมีความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปในอนาคต 
          อนึ่ง ในการตรวจเยี่ยมการครั้งนี้ มีผู้แทนจากองค์กร Stella Maris และ Environmental Justice Foundation (EJF) เข้าร่วมด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับองค์กรเอกชนเกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่ เพื่อสะท้อนความเข้มแข็งของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ผู้แทนองค์กรดังกล่าวได้แลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐต่อไปด้วย