โครงการจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ ๓

โครงการจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ ๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.พ. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,646 view
          ตามที่ปรากฏรายงานข่าวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ ๓ นั้น           
          กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้ 
          ๑. กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ร่างขอบเขตงาน (TOR) บนเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ซึ่งหากนับถึงวันเสนอราคาในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๑ มีระยะกว่า ๒ เดือนครึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลามากกว่าที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ว่าตั้งแต่วันเผยแพร่เอกสารประกวดราคาจนถึงวันเสนอราคาต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐ วันทำการ
          ๒. กระบวนการทดสอบสาธิต (benchmark test) ในวันที่ ๒๖ – ๒๗ เมษายน ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นกระบวนการหลักเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของผู้เสนอราคา เป็นกระบวนการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งโดยปกติผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในงานด้านหนังสือเดินทางชั้นนำ (ซึ่งมีอยู่จำนวนหลายรายทั่วโลก รวมถึงผู้ประกอบการของไทยด้วยและเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมการประกวดราคา) พึงมีอยู่แล้ว มิได้เป็นการทดสอบผู้เสนอราคาด้วยการให้สร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางสารสนเทศขึ้นใหม่หมดแต่อย่างใด นอกจากนี้ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ต้องจัดทำการสาธิตภายใน ๕ วันทำการ นับถัดจากวันเสนอราคา (๒๐ เมษายน ๒๕๖๑)
          ๓. อนึ่ง โดยที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในกำหนดการปัจจุบันจะเสร็จสิ้นลงและกระทรวงการต่างประเทศจะต้องลงนามกับผู้ชนะการประกวดราคาภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เพื่อให้มีระยะเวลาที่เหลืออยู่ (ประมาณ ๙ เดือน) สำหรับเตรียมการขึ้นระบบงานหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ ๓ โดยมีกำหนดเริ่มโครงการในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๒ เมื่อสัญญาช่วงเปลี่ยนผ่านโครงการสิ้นสุดลง ดังนั้น การขยายระยะเวลาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างออกไป อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการขึ้นโครงการที่จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันในกรอบเวลาดังกล่าว อันจะส่งผลกระทบต่องานหนังสือเดินทางซึ่งเป็นบริการสาธารณะและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนในที่สุด 
          ๔. ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการนี้ได้ดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องความโปร่งใส โดยได้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งเป็นความร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง