สำนักงานเลขาธิการเอเปคเปิดรับสมัครผู้อำนวยการบริหาร (Executive Director) ของสำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) คนใหม่

สำนักงานเลขาธิการเอเปคเปิดรับสมัครผู้อำนวยการบริหาร (Executive Director) ของสำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) คนใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.พ. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,786 view
          สำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) เปิดรับสมัครผู้อำนวยการบริหาร (Executive Director) คนใหม่ แทน Dr. Alan Bollard อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ซึ่งจะหมดวาระการทำงานในเดือนธันวาคม ๒๕๖๑
          ผู้อำนวยการบริหารของเอเปคจะมีวาระการทำงาน ๓ ปี (พร้อมโอกาสการขยายวาระอีก ๑ – ๓ ปี) โดยจะต้องเริ่มปฏิบัติงานที่สำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) ณ สิงคโปร์ ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๒ ทั้งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะต้องเดินทางเป็นประจำ
          ผู้ที่จะสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารของเอเปคควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
          ๑. ควรมาจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค 
          ๒. ต้องมีความเป็นผู้นำและมีประสบการณ์การทำงานในภาครัฐ รวมถึงมีประสบการณ์การบริหารระดับสูง ทักษะการสื่อสารต่อสาธารณชน ไหวพริบทางการเมืองที่ดี และประสบการณ์การทำงานในระดับพหุภาคี โดยเฉพาะด้านการค้าหรือเศรษฐกิจ 
          ๓. ควรดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการระดับสูง 
          ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของขั้นตอนการสมัคร คุณสมบัติของผู้สมัคร หน้าที่หลัก แบบบรรยายลักษณะงาน (Job Description) ความรับผิดชอบ และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอเปค ได้ที่ www.apec.org 
          ผู้สนใจสามารถส่งใบสมัคร พร้อมคำอธิบายคุณสมบัติและประสบการณ์การทำงาน ภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๑ ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือทางไปรษณีย์ถึง Executive Director, APEC Secretariat, 35 Heng Mui Keng Terrace, Singapore 119616 ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการพิจารณาในเบื้องต้นเท่านั้นที่จะได้รับการแจ้งตอบรับจากสำนักเลขาธิการเอเปค 
          อนึ่ง กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือเอเปค (APEC) ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด ๒๑ เขตเศรษฐกิจ เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะในรูปแบบพหุภาคี ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และการเสริมสร้างศักยภาพ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ โดยยึดหลักฉันทามติ (consensus) และความสมัครใจ (voluntary commitment)  ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งเอเปค และจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๕