การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน

การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,054 view

                ตามที่สื่อมวลชนได้รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยซึ่งเป็นข้อมูลที่ปรากฏในรายงานประจำปีของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นั้น

                  กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้

                   ๑. เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๐ ได้มีการนำเสนอรายงาน เรื่อง Cooperation with the United Nations, its representatives and mechanisms in the field of human rights ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council - HRC) สมัยที่ ๓๖ ที่นครเจนีวา โดยรายงานมีสาระเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตอบโต้/แก้แค้น (reprisals) ของรัฐต่าง ๆ ต่อบุคคลที่ร่วมมือกับกลไกของสหประชาชาติ ซึ่งถือว่าขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุม  และเรียกร้องให้รัฐต่างๆ หยุดการกระทำดังกล่าว และให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหา เยียวยาผู้เสียหาย รวมทั้งหามาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก

                    ๒. การจัดทำและนำเสนอรายงานดังกล่าวเป็นกระบวนการปกติของ HRC ซึ่งจัดทำเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ตามข้อมติ HRC ที่ ๑๒/๒ โดยมีการนำเสนอรายงานต่อที่ประชุม HRC โดยไม่มีการหารือหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงานฯ และในช่วงการนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมประจำปีนี้ ผู้เสนอรายงานได้ยกตัวอย่างประเทศที่ปรากฏกรณีการตอบโต้/แก้แค้น (reprisal) ต่อพลเมืองที่เป็นนักเคลื่อนไหวบ่อยครั้ง ทั้งนี้ มิได้มีการกล่าวถึงประเทศไทยแต่อย่างใด

                   ๓. อย่างไรก็ดี ในส่วนของไทยที่ปรากฏในรายงานฯ คือ กรณีทางการไทยฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้จัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน ๓ ราย ปรากฎในเอกสารรายงานฉบับเต็มรวมกับกรณีของอีก ๒๘ ประเทศ ซึ่งสะท้อนข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากทางการไทยได้ตกลงถอนแจ้งความดำเนินคดีต่อบุคคลทั้ง ๓ แล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการถอนฟ้อง และคณะผู้แทนไทยได้เคยชี้แจงกรณีนี้แล้วในการนำเสนอรายงานการดำเนินการของไทยตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ นครเจนีวา

                    ๔. รัฐบาลไทยขอยืนยันให้ความสำคัญลำดับต้นต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล ปัจจุบัน กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับ ที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๖) โดยมีความตั้งใจที่จะบรรจุมาตรการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนให้แก่กลุ่มต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม ๑๕ กลุ่ม ให้รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (human rights defenders) และสื่อมวลชนด้วย เพื่อคุ้มครองและรับรองเสรีภาพในการเเสดงออก ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ในการจัดทำร่างแผนสิทธิมนุษยชนดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมได้นำข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการภายใต้สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ รวมถึงข้อเสนอแนะที่ได้รับจากกลไก Universal Periodic Review (UPR) มาร่วมพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนต่อไป

                      ๕. นอกจากนั้น ในปี ๒๕๕๙ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำ "คู่มือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" เพื่อเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนใช้เป็นคู่มือในการทำงาน และในปี ๒๕๖๐ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยขน แห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ได้จัดการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังข้อมูลสถานการณ์การละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ (กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้) และเพื่อร่วมพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหา และขณะนี้ อยู่ระหว่างการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เพื่อเป็นการเพิ่มความคุ้มครองให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย

                       ๖. อนึ่ง คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จะมีหนังสือถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในโอกาสแรกเพื่อแจ้งพัฒนาการล่าสุด รวมทั้งยืนยันนโยบายของรัฐบาลในการให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทย ตลอดจนการดำเนินการของไทยซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติในเดือนธันวาคมศกนี้