ภูฏานตกลงร่วมมือกับไทยด้านการพัฒนาชุมชนต้นแบบโดยนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏาน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

ภูฏานตกลงร่วมมือกับไทยด้านการพัฒนาชุมชนต้นแบบโดยนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏาน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มิ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,794 view
          เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนาย Rinchen Wangdi ผู้อำนวยการ Gross National Happiness Commission (GNHC) ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน โดยผู้อำนวยการ GNHC เห็นพ้องว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) สอดคล้องกับแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) ของภูฏาน และตกลงร่วมมือกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาชุมชนต้นแบบในภูฏาน โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์เป็นแนวทางให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏาน และเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดย GNHC จะคัดเลือกหมู่บ้านนำร่องในภูฏานเพื่อร่วมมือกับไทยในการพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบก่อนจะขยายผลต่อไป
          การที่ภูฏานตอบรับตกลงร่วมมือกับไทยในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาชุมชนในภูฏาน สะท้อนให้เห็นว่า ความสำเร็จเชิงรูปธรรมของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยฝ่ายภูฏานเห็นว่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ โดยเฉพาะสาขาการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน (community vitality) ซึ่งเป็น ๑ ใน ๙ สาขาของความสุขมวลรวมประชาชาติ รวมทั้งจะช่วยให้ภูฏานบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ตามเป้าหมายที่ ๑ การขจัดความยากจน (No Poverty) เป้าหมายที่ ๑๓ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และเป้าหมายที่ ๑๕ การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (Life on Land)  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนการพัฒนาที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs Partnership) ของไทย