วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มิ.ย. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ตามที่โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น
กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้
1. สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติที่สร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ประชาชนชาวไทยเคารพเทิดทูนและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนานกว่า 700 ปี ถึงปัจจุบัน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์คงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นศูนย์รวมที่หล่อหลอมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติ การที่ไทยหรือชาติใด ๆ จะตรากฎหมายที่เหมาะสมเพื่อการปกป้องคุ้มครองสถาบันฯ ที่มีคุณูปการยิ่งต่อชาติบ้านเมืองจึงเป็นเรื่องปกติสามัญที่ชนในชาติพึงเคารพยึดปฏิบัติ
2. กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการกระทำฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทที่ให้ความคุ้มครองบุคคลทั่วไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด นอกจากนั้น ไทยยังมีความ
เป็นสากลในการให้ความคุ้มครองลักษณะคล้ายคลึงกันต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทของชาติอื่น รวมถึงผู้แทนของรัฐต่างประเทศประจำประเทศไทย ดังปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 133 และมาตรา 134
3. ประเทศไทยเคารพและให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่กระทบความสงบเรียบร้อยและสันติสุขในสังคม และต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น ทั้งนี้ ICCPR ข้อ 19(3) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกมีหน้าที่และความรับผิดชอบควบคู่อยู่ด้วย และสามารถมีข้อจำกัดได้ในกรณีที่จำเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือการรักษาความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อย ดังนั้น การบังคับใช้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่ได้ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด
4. การดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีกระบวนการพิจารณาคดีอันควรแห่งกฎหมาย (due legal process) เหมือนกับคดีอาญาโดยทั่วไป ผู้ที่ถูกพิพากษาให้มีความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีสิทธิเฉกเช่นเดียวกับความผิดอื่น ๆ รวมถึงสิทธิในการอุทธรณ์และขอพระราชทานอภัยโทษเมื่อคดีถึงที่สุด
5. การพิจารณาคดีในศาลทหาร มีหลักปฏิบัติที่ไม่แตกต่างจากศาลพลเรือน รวมทั้งสิทธิต่างๆ ของพลเรือน เช่น สิทธิในการเข้าถึงทนายความ และสิทธิในการได้รับการประกันตัว รวมทั้งคุณสมบัติของผู้พิพากษา นอกจากนั้น การไม่โอนคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่ 12 กันยายน 2559 ไปยังศาลพลเรือน เนื่องจากเพื่อรักษาสิทธิของประชาชนในการที่ไม่ต้องไปเริ่มการพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมด
6. รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเสรีภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม ตราบที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และพร้อมที่จะร่วมมือและมีปฏิสัมพันธ์กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่องต่อไป
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **