สถานการณ์สิทธิมนุษยชนและแรงงานในประเทศไทย

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนและแรงงานในประเทศไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 เม.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,133 view

ตามที่ปรากฏรายงานข่าวว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และองค์การแรงงานระหว่างประเทศออกรายงานระบุว่าประเทศไทยยังมีการบังคับใช้แรงงานอย่างแพร่หลาย นั้น

กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้

๑. สถานการณ์สิทธิมนุษยชน

    ๑.๑  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Committee) ซึ่งเป็นคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ได้ออกข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding Observations) เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ภายหลังการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติกา ICCPR รวมถึงการนำเสนอรายงานด้วยวาจาของคณะผู้แทนไทย ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ นครเจนีวา โดยการให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกลไกปกติทุก ๆ ๔ ปี 

    ๑.๒ ในข้อสังเกตโดยสรุป คณะกรรมการฯ ได้ชื่นชมพัฒนาการและการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในห้วงที่ผ่านมา อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการและพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 

    ๑.๓ ข้อสังเกตโดยสรุปมิได้กล่าวถึงจำนวนนักโทษทางการเมืองหรือกรณีผู้ต้องขังหายสาบสูญตามที่ปรากฏในรายงานข่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้ ไทยได้พยายามผลักดันประเด็นการให้ความคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงการมีกลไกป้องกันและปราบปรามการถูกบังคับให้หายสาบสูญที่เข้มแข็งให้มีความคืบหน้า 

    ๑.๔ ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ตรากฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิสตรีและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ นอกจากนี้ การสำรวจโดย Grant Thornton ในปี ๒๕๖๐ พบว่า ภาคธุรกิจไทยมีสัดส่วนผู้บริหารสตรีสูงเป็นอันดับสามของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

    ๑.๕ สำหรับประเด็นบุคคลไร้รัฐ ไทยได้รับการชื่นชมจากองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) ในหลายโอกาส เกี่ยวกับความพยายามลดภาวะการไร้รัฐในประเทศไทย โดยได้ชื่นชมการออกมติคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนซึ่งประสบภาวะไร้รัฐและไร้สัญชาติประมาณ ๘๐,๐๐๐ คนได้รับประโยชน์

    ๑.๖ ในภาพรวม คำแนะนำคณะกรรมการฯ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลมุ่งดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขที่ทั่วถึงของประชาชนไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังอย่างแท้จริง 

๒. สถานการณ์แรงงาน

    ๒.๑ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ โดยมีนโยบายที่ไม่ยอมรับการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง (zero tolerance) และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการทั่วประเทศผ่านกลไกประชารัฐ ทั้งการปราบปรามการค้ามนุษย์ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับในภาคอุตสาหกรรมประมง

    ๒.๒ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) ได้ออกรายงานกรณีรัฐบาลไทยถูกร้องเรียนว่าละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวมีเนื้อหาที่ไม่เป็นปัจจุบัน โดยอาศัยรายงานความคืบหน้าที่ไทยได้ส่งให้เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๕๙ ซึ่งรายงานไม่ได้พิจารณานั้น ไทยได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานไทยทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียมกัน เช่น (๑) การออก พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๙ (๒) การออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ห้ามนายจ้างจ้างลูกจ้างอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี (๓) การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อเพิ่มอัตราโทษกรณีความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็ก และ (๔) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๐ เห็นชอบการปรับปรุง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... โดยให้เพิ่มกลไกการร้องทุกข์ให้แก่คนต่างด้าว และการกำหนดอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการจ้างคนต่างด้าว เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแรงงาน 

    ๒.๓ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ILO Governing Body ได้ตัดสินใจปิดการสอบสวนการร้องเรียนต่อไทยละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา ฉบับที่ ๒๙ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวแสดงถึงการยอมรับผลการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการแก้ไขประเด็นแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำของไทย ตลอดจนความตั้งใจจริงในการปฏิบัติตามอนุสัญญา ฉบับที่ ๒๙ ของ ILO นอกจากนี้ การปรับระดับประเทศไทย จาก Tier 3 (ระดับต่ำที่สุด) ขึ้นเป็น Tier 2 Watch List (ระดับ ๒ ที่ต้องจับตามอง) โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในปี ๒๕๕๙ สะท้อนถึงความพยายามอย่างจริงจังและต่อเนื่องของไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหาย 

    ๒.๔ ไทยจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ILO และภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร International Trade Union Confederation (ITUC) และ International Transport Workers' Federation (ITF) ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและสวัสดิภาพของแรงงานต่างด้าวต่อไป