กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. 2016

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. 2016

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มี.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 2,270 view

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2560 (ตามเวลาประเทศไทย) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกาตามกฎหมาย Foreign Assistance Act ค.ศ. 1961

​รายงานดังกล่าวประจำปีนี้เป็นรายงานฉบับที่ 41 ครอบคลุม 195 ประเทศ ใน 6 ภูมิภาคทั่วโลก โดยรายงานฯ กล่าวถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ แบบไม่มีการจัดลำดับและไม่ระบุข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ ในบทแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาย้ำว่า การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นหลักการสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกายังคงยึดมั่นในคุณค่าทั้งสองนี้เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของโลก

​ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย รายงานฯ ได้กล่าวถึงทั้งความก้าวหน้าและข้อจำกัดเช่นเดียวกับเมื่อกล่าวถึงประเทศอื่น ๆ อีกกว่า 190 ประเทศ โดยข้อจำกัดบางประการของไทยในรายงาน อาทิ เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในรายงานปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันรายงานฉบับนี้ก็ได้ระบุถึงความก้าวหน้าของไทยไว้ด้วย อาทิ การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ และการยกเลิกการพิจารณาคดีผู้ต้องสงสัยที่เป็นพลเรือนในศาลทหาร เป็นต้น จากรายงานประจำปีนี้ ฝ่ายไทยขอให้ข้อมูลและข้อคิดเห็น ดังนี้

1. รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการตามโรดแมปซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 2 เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดอง และบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน การออกกฎหมายและคำสั่งโดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม แก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายปกติ ทั้งนี้ รัฐบาลใช้อำนาจดังกล่าวเฉพาะเท่าที่จำเป็นด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศ

2. สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบาย "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ในช่วงปี 2559 จำนวนการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในการแก้ไขปัญหาโดยมีแนวคิดให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันซึ่งต้องใช้เวลานั้นถือว่ามีพัฒนาการและความคืบหน้าโดยลำดับ

​อนึ่ง รายงานฉบับดังกล่าวเป็นมุมมองของสหรัฐอเมริกาแต่เพียงฝ่ายเดียว และจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลข้อห่วงกังวล กรณีศึกษาที่ไม่เปิดเผยและไม่สามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศพร้อมที่จะร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเพื่อตรวจสอบและเกิดความกระจ่างในข้อมูลและความเข้าใจในการดำเนินการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของไทยที่ถูกต้องชัดเจนต่อไป