ไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี การก่อตั้งสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี การก่อตั้งสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 มี.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,138 view

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี การก่อตั้งสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association - IORA) ในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรี IORA ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๐ เพื่อเตรียมการการประชุมผู้นำ

          การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมในระดับผู้นำครั้งแรกของกรอบ IORA โดยมีหัวข้อหลัก คือ “การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของมหาสมุทรอินเดีย” ซึ่งที่ประชุมผู้นำจะรับรองเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ ปฏิญญา IORA (IORA Concord) แผนปฏิบัติการ IORA ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑ (IORA Action Plan) เพื่อวางแนวทางและทิศทางการดำเนินความร่วมมือของ IORA รวมทั้งรายงานผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา นอกจากนี้ จะมีการรับรองปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธิรุนแรงสุดโต่ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค

          การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเลอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ ความพร้อมและศักยภาพของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเป็นศูนย์กลางการขนส่งคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทยได้

          IORA เป็นเวทีความร่วมมือที่เน้นส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมสมาชิกทั้งหมด ๒๑ ประเทศ โดยมี ๖ สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (๑) ความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล (๒) การประมง (๓) การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน (๔) การจัดการภัยพิบัติ (๕) ความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (๖) การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และมีประเด็นการส่งเสริมพลังสตรีและเศรษฐกิจภาคทะเลเป็นประเด็นคาบเกี่ยว (cross-cutting issues)