รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2559

รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2559

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 มี.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,211 view

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดทำรายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย ประจำปี 2559 ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พลตำรวจเอก ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ที่ปรึกษา สบ. ๑๐ (ด้านการบริหาร) และพลตำรวจโท ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้ง นายสมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย

รายงานดังกล่าวเป็นรายงานประจำปีของไทยเพื่อเผยแพร่สถานการณ์การค้ามนุษย์และความคืบหน้าในการดำเนินการต่อต้านการมนุษย์ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมทุกมิติตามยุทธศาสตร์ 5Ps ได้แก่ (1) ด้านนโยบาย (Policy) (2) ด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) (3) ด้านการคุ้มครอง (Protection) (4) ด้านการป้องกัน (Prevention) และ (5) ด้านความร่วมมือ (Partnership) รวมทั้งแผนการดำเนินงานในอนาคต ทั้งนี้ สรุปความก้าวหน้าและความสำเร็จสำคัญในปี 2559 ดังนี้

1.      ด้านนโยบาย (Policy) รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้วางพื้นฐานและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และมีพัฒนาการที่ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ในปี 2559 รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์แบบองค์รวม ไม่ยอมรับการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง (Zero Tolerance) จัดทำแผนปฏิบัติการ 24 ข้อ ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยเป็นการดำเนินการอย่างมีบูรณาการภายใต้ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนของไทยและต่างประเทศ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องของสหรัฐอเมริกา มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2560 เพื่อแก้ไขการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.88 จากปีงบประมาณ 2559 และมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินคดีค้ามนุษย์ จนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายในการขจัดการค้ามนุษย์ออกไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของไทยตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) และแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีของกระทรวงการต่างประเทศ (2558-2561) ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย

2.      ด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) รัฐบาลได้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยส่งเสริมบูรณาการของการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฏหมายและหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้น เพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ เช่น กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ส่งผลให้การดำเนินการทางกฎหมาย มีคุณภาพและความรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงฐานข้อมูลคดีค้ามนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินคดีค้ามนุษย์ โดยให้การค้ามนุษย์มีต้นทุนสูงและไม่มีผลตอบแทน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 ในปี 2559 ปรากฏคดีค้ามนุษย์จำนวน 333 คดี และมีการสั่งฟ้อง 301 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และร้อยละ 19.92 ตามลำดับ มีจำนวนผู้ต้องหา 268 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 ยึดทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 307 หรือคิดเป็นเงิน 784 ล้านบาท มีการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันกับการค้ามนุษย์จำนวน 45 คน (ระหว่างปี 2556-2559) ซึ่งในปี 2559 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 10 คน

3.      ด้านการคุ้มครอง (Protection) รัฐบาลให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย เพื่อสร้างชีวิตใหม่และกลับคืนสู่สังคมได้ รวมทั้งป้องกันการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ซ้ำในอนาคต และให้ความสำคัญแก่การให้ความคุ้มครองกลุ่มที่มีความเปราะบาง โดยได้ดำเนินการบนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชน มุ่งเน้นการไม่เลือกปฏิบัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก และการให้ความสำคัญกับผู้เสียหาย ทั้งนี้ การดำเนินการที่สำคัญในปี 2559 รวมถึงการขยายโอกาสการทำงานของผู้เสียหาย โดยจัดหางานให้ผู้เสียหาย 196 คนทั้งภายในและภายนอกสถานคุ้มครอง ซึ่งเพิ้มขึ้นจากปี 2558 ถึง 3.51 เท่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติขยายระยะเวลาในการอนุญาตให้ผู้เสียหายและพยานในคดีค้ามนุษย์สามารถพำนักต่อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ปีเป็น 2 ปี ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการกลั่นกรองและสัมภาษณ์เหยื่อ พัฒนาขีดความสามารถและเพิ่มจำนวนล่ามและเจ้าหน้าที่ดูแลเหยื่อการค้ามนุษย์ ปรับปรุงการให้การดูแลเหยื่อค้ามนุษย์ในสถานคุ้มครอง และสอดส่องดูแลกลุ่มเสี่ยงเช่นสตรีและเด็ก

4.      ด้านการป้องกัน (Prevention) รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานทุกสัญชาติในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีการปรับปรุงระบบบริหารแรงงานต่างด้าว อาทิ การลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในไทยทั้งหมด 2.66 ล้านคน โดยเป็นแรงงานที่เดินทางเข้าไทยตามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกว่า 381,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นร้อยละ 64 การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อเพิ่มอัตราโทษกรณีความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็ก รวมถึงการค้ามนุษย์ในกลุ่มเปราะบาง การจัดทำหนังสือคนประจำเรือสำหรับแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าว นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดูแลให้ความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ อาทิ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการว่าจ้าง ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมง และศูนย์บัญชาการต่อต้านประมงผิดกฎหมายเพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคการประมงด้วย นอกจากนี้ ไทยยังได้ยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 และไทยยื่นสัตยาบันสารแห่งอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 ด้วย

5.      ด้านความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ (Partnership) โดยที่ประเด็นการค้ามนุษย์เป็นประเด็นข้ามชาติ รัฐบาลไทยจึงได้เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทั้งภายในประเทศและกับต่างประเทศอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ทั้งมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติด้วย โดยขยาย ความร่วมมือแบบบูรณาการอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และความร่วมมือในกรอบภูมิภาคด้วย ไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ACTIP) ความร่วมมือกับออสเตรเลียในโครงการออสเตรเลีย - เอเชีย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (AAPTIP) และในกระบวนการบาหลี นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในการดำเนินการและพัฒนาบุคลากรด้านการบังคับใช้กฏหมาย ทั้งนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อให้มีความเข้าใจและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่อไป

รัฐบาลไทยยืนยันเจตนารมณ์และความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพและศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ