กงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เยือนสมาคมโลจิสติกส์มณฑลกวางตุ้ง

กงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เยือนสมาคมโลจิสติกส์มณฑลกวางตุ้ง

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 408 view
             เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ นายวศิน เรืองประทีปแสงกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว พร้อมด้วยกงสุลฝ่ายเศรษฐกิจและเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เดินทางเยือนสมาคมโลจิสติกส์มณฑลกวางตุ้ง โดยมีนายหม่า เหรินหง รองนายกสมาคมฯ และนางเหลียง ยู่ว์เสีย เลขาธิการสมาคมฯ ให้การต้อนรับ
             นายหม่าฯ ได้บรรยายโครงการภาพรวมของความเชื่อมโยงมิติด้านการคมนาคมขนส่ง ภายใต้แนวคิด One Belt, One Road และก่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าต่อ เนื่องหลายรูปแบบของจีนตอนใต้ โดยแผนงานการก่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าของสมาคมฯ ที่นครกุ้ยโจว มณฑลกุ้ยหยาง ที่เมืองมอมบาซ่า ประเทศเคนยา และที่เมืองท่าของประเทศแคเมอรูน ซึ่งจะเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าเข้า-ออกจากศูนย์กระจายสินค้านครกุ้ยโจวโดยทางรถไฟไปยังท่าเรือที่เมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง เพื่อขนส่งต่อทางทะเลผ่านทะเลจีนใต้ มหาสมุทรอินเดีย ทะเลแดง มหาสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อไปสู่อ่าวกินีของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ของจีน
             ทั้งนี้นายหม่าฯ ยังได้แนะนำสมาคมโลจิสติกส์พร้อมกับรายงานตัวเลขสถิติของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของมณฑลกวางตุ้งให้แก่ กงสุลใหญ่ฯ และคณะฯ ทราบ
สมาคมโลจิสติกส์มณฑลกวางตุ้ง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๙ ปัจจุบัน เป็นสมาคมระดับแนวหน้าในกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีน โดยกระทรวงกิจการพลเรือนจีนประเมินระดับสมาคมฯ ที่ “5A” ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ร้อยละ ๓๐ ของสมาชิกอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต และอีกร้อยละ ๗๐ ของสมาชิกอยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีสมาชิกทั้งที่เป็นชาวจีนรวมถึง ไทย อินโดนิเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์
              โดยสมาชิกของสมาคมฯ แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่  สมาชิกที่ไม่เสียค่าบริการ กลุ่มสมาชิกที่เป็นเกษตรกรหรืออยู่ในระบบอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเกษตร หุ่นยนต์หรือเครื่องบินไร้คนขับที่ควบคุมด้วยวิทยุทางไกล (Drone) ในพื้นที่ต่าง ๆ ของจีน อาทิ มณฑลซินเจียง เฮยหลงเจียง ส่านซีและเหอหนาน มีประมาณ ๙,๐๐๐ คน และสมาชิกที่เสียค่าบริการ กลุ่มสมาชิกที่อยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีประมาณ ๑,๘๐๐ คน สมาคมฯ มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ๒๐๑ คน มีคณะกรรมการ ๑๒ คณะทำงานเฉพาะด้าน เช่น ด้านกฎหมาย ด้านการฝึกอบรม ด้านนิคมอุตสาหกรรมด้านห่วงโซ่โลจิสติกส์ห้องเย็น ด้านห่วงโซ่อุปทาน มีศูนย์บริการเฉพาะด้าน ๘ ศูนย์ อาทิ ศูนย์สารสนเทศ ศูนย์สื่อสารมวลชน ศูนย์ทรัพยากรบุคคล ศูนย์นโยบาย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีโลจิสติกส์ เป็นต้น
               เมื่อปี ๒๕๕๘ ข้อมูลสถิติระบุว่ามณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่มีระบบโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุด (物流大省)โดยมีมูลค่าการขนส่งสินค้ากว่า ๑๘๔ ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ ๘.๔ ของ GDP ทั้งประเทศ  ระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทยและมณฑลกวางตุ้งมีความใกล้เคียงกัน โดยสังเกตได้จากตัวเลขต้นทุนโลจิสติกส์ โดยมณฑลกวางตุ้งมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ร้อยละ ๑๔.๕ ในขณะที่ประเทศไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ร้อยละ ๑๔.๒ (สถิติปี ๒๕๕๖)  ในขณะที่จีนเท่ากับร้อยละ ๑๘ และประเทศที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในระดับสูงอย่างญี่ปุ่นและเยอรมันมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ร้อยละประมาณ ๙ – ๘.๕ ทั้งนี้มณฑลกวางตุ้งยังได้ตั้งเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ ๕ ปี ฉบับที่ ๑๓ ว่าต้นทุนดังกล่าวจะเหลืออยู่ที่ประมาณร้อยละ ๑๑ ในปี ๒๕๖๓ โดยที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ ๑๒ ในปี ๒๕๖๐ ซึ่งนับว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่ใกล้เคียงกัน
             สมาคมโลจิสติกส์มณฑลกวางตุ้งยังคงขยายโครงการด้านโลจิสติกส์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุนทางการขนส่งและทำให้สินค้าที่เข้ามายังจีนมีราคาที่ถูกลงก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค มณฑลกวางตุ้งถือเป็นประตูทางการค้าอันสำคัญของจีน ที่นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตและรวมสินค้าจากที่ต่าง ๆ ในจีนและทั่วโลกแล้ว ในอนาคตมณฑลกวางตุ้งจะกลายเป็นมณฑลชั้นนำที่เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของจีนที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ