ผลการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๔ (14th Asia Cooperation Dialogue Ministerial Meeting)

ผลการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๔ (14th Asia Cooperation Dialogue Ministerial Meeting)

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 5,002 view

เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๔ ที่โรงแรม Siam Kempinski มีสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการจัดทำวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. ๒๐๓๐ (ACD Vision for Asia Cooperation 2030) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินความร่วมมือของภูมิภาคที่ชัดเจนโดยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ ในภูมิภาค เช่น ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม  ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป็นต้น โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

        ๑. การพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคในกรอบ ACD โดยการส่งเสริมความเชื่อมโยงของเอเชียให้มีความสมบูรณ์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม อาหาร พลังงาน โทรคมนาคม และการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในภูมิภาคเอเชียได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

         ๒. ได้มีการจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือของ ACD เป็น ๖ สาขาสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (Sustainable Development Goals 2030) ดังนี้ (๑) การพัฒนาความเชื่อมโยง (๒) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม (๓) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๔) ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (๕) การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม (๖) วิถีทางเลือกสู่การพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ซึ่งไทยเสนอตัวเป็นประเทศขับเคลื่อนหลัก

          ๓. การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน โดยเน้นการขยายเครือข่ายของภาคเอกชนและการจับคู่ทางธุรกิจ และผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการดำเนินความร่วมมือของ ACD โดยไทยเห็นประโยชน์จากการต่อยอดกิจกรรมของภาคธุรกิจของ ACD โดยเฉพาะ SMEs และการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Network of Young Entrepreneurs) ซึ่งริเริ่มโดยจีน

              ในการนี้ ไทยเสนอให้มีการเชื่อมโยงของภาคธุรกิจของ ACD (ACD Connect) เป็น ๖ กรอบหลักรวมทั้งภาคธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าเดียวกัน โดยคำนึงถึงจุดแข็งและเป้าหมายร่วมของภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อาหาร พลังงาน นวัตกรรม ความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว และวิถีทางเลือกสู่การพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืนที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจได้ โดยขอให้ประเทศสมาชิกเสนอชื่อผู้ประกอบการชั้นนำในคลัสเตอร์ต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจในภูมิภาค (ACD Business Forum) และที่ประชุมเห็นว่าควรมีการจัดให้ภาคเอกชนพบกับผู้นำประเทศสมาชิก ACD ในช่วงการประชุม ACD Summit ครั้งที่ ๒ เพื่อเสนอนโยบายในการผลักดันและแนวทางส่งเสริมพลวัตทางเศรษฐกิจของเอเชียต่อไป

          ๔. การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยที่ประชุมเห็นว่าควรส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการศึกษาในภูมิภาค โดยเฉพาะอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา และยังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย ACD และการสร้างมาตรฐานการถ่ายโอนหน่วยกิจการเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ รวมทั้ง การฝึกอบรมด้านภาษาระหว่างกัน

          ๕. การจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACD ถาวร เป็นหัวข้อที่ประเทศสมาชิกเห็นพ้องให้มีการศึกษาต่อไป ด้วยคำนึงถึงประโยชน์ของการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก โดยคูเวตได้เสนอให้มีการยกระดับสำนักงานเลขาธิการชั่วคราวซึ่งตั้งอยู่ ณ คูเวต เป็นสำนักเลขาธิการถาวร และแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานและเจ้าหน้าที่ประจำสำนักเลขาธิการถาวร

          ท้ายที่สุด ที่ประชุมได้แสดงความขอบคุณและชื่นชมไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรี ACD ในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไทยในฐานะประธาน ACD จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ ๒ ภายในปีนี้ เพื่อรักษาพลวัตของ ACD และสานต่อความร่วมมือที่รัฐมนตรี ACD ได้เห็นพ้องกันและทำให้ผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้เป็นนโยบายสำคัญของทุกประเทศสมาชิกอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้ ACD เป็นกรอบความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ เสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับภูมิภาคและนำไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเอเชียในอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ