นายกรัฐมนตรีเปิดการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๔ (14th Asia Cooperation Dialogue Ministerial Meeting)

นายกรัฐมนตรีเปิดการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๔ (14th Asia Cooperation Dialogue Ministerial Meeting)

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,165 view

เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๔ (14th Asia Cooperation Dialogue Ministerial Meeting) ณ โรงแรม Siam Kempinsky โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิก ๓๔ ประเทศเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงโดยเน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการเป็นประธานและผู้ประสานงานกรอบความร่วมมือ ACD ในปีนี้ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนของ ACD เพื่อให้ประเทศสมาชิกก้าวไปด้วยกัน และร่วมเสริมสร้างจุดแข็งและความเชื่อมโยงในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมศักยภาพของ ACD ในเวทีโลก ตลอดจนเน้นการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในอนาคต ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดเป้าหมายในระยะยาวที่สอดคล้องกับเป้าหมายของนานาชาติ อาทิ วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ โดยไทยได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับงานในทุกระดับ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับมิตรประเทศ โดยหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยสร้างพลวัตของความร่วมมือของกรอบ ACD และนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการประชุมผู้นำ ACD ครั้งที่ ๒ ในปีนี้

จากนั้น นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุม ซึ่งไทยในฐานะประธาน ACD ได้เสนอแนวคิด “ACD - The Way Forward” หรือ “การแสวงหาหนทางสู่ความร่วมมือ ACD ในอนาคต” เป็นหัวข้อสำหรับการประชุมในครั้งนี้ โดยที่ประชุมจะได้ได้หารือเรื่องการจัดทำวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. ๒๐๓๐ (ACD Vision for Asia Cooperation 2030) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินความร่วมมือของภูมิภาคที่ชัดเจน รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ ในภูมิภาค อาทิ ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม  ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน นอกจากนี้ ที่ประชุมจะได้ต้อนรับเนปาลเข้าเป็นประเทศสมาชิก ACD ลำดับที่ ๓๔ อย่างเป็นทางการ และเชื่อมั่นว่าเนปาลจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของกรอบความร่วมมือ ตลอดจนยกบทบาทของเวทีให้มีความหลากหลายและครอบคลุมประเทศในเอเชียเพิ่มมากขึ้นได้

ที่ประชุมจะได้หารือกับข้อเสนอของไทยที่จะร่วมกันร่างวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยมุ่งเน้นแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ ๑. การพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคในกรอบ ACD โดยการส่งเสริมความเชื่อมโยงของเอเชียให้มีความสมบูรณ์รอบด้าน ๒. การจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือของ ACD จาก ๒๐ ด้านเป็น ๖ สาขาสำคัญ ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยง (๒) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม (๓) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๔) ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (๕) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และ (๖) แนวทางในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ ๓. การส่งเสริมบทบาทหุ้นส่วนของภาคเอกชน โดยการสร้างและขยายเครือข่ายของภาคเอกชนโดยการจัดตั้งสภาธุรกิจ ACD และผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการดำเนินความร่วมมือของ ACD ๔. การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาโดยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากร และ ๕. การจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACD ถาวร

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้จัดแสดงนิทรรศการหัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง: ประชากรสุขภาพดี ชุมชนแข็งแรง ในสังคมสมัยใหม่” (Sufficiency Economy: Healthy People, Healthy Community within Modern Society)  ซึ่งนำเสนอหลักเศรษฐกิจพอเพียงในมิติด้านการรักษาสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์กรุงเทพฯ ในฐานะเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพชั้นนำของเอเชีย ให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้เยี่ยมชมอีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ