ผลการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงประเทศกลุ่ม ๗๗ ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา และการประชุมจัดการประชุมประจำปี ระหว่างประธานและผู้ประสานงานของกลุ่ม ๗๗ ครั้งที่ ๔๗

ผลการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงประเทศกลุ่ม ๗๗ ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา และการประชุมจัดการประชุมประจำปี ระหว่างประธานและผู้ประสานงานของกลุ่ม ๗๗ ครั้งที่ ๔๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,473 view

          เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๙ ประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗  เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงประเทศกลุ่ม ๗๗ ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (ความร่วมมือใต้-ใต้) ภายใต้หัวข้อ   “The Future Architecture of South-South Cooperation: Challenges and Opportunities” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิกทั้งในระดับอดีตผู้นำของประเทศสมาชิกกลุ่ม ๗๗ และผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าร่วม    

          ในการนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และได้มอบวิสัยทัศน์สำหรับการเสริมสร้างความร่วมมือใต้-ใต้ให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ร่วมกัน ได้แก่ ผลักดันความร่วมมือใต้-ใต้ โดยเน้น    การพึ่งตนเองและไม่รอความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น ปรับปรุงกลไกความร่วมมือใต้-ใต้ ที่มีอยู่    และร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการสำหรับการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาของไทยซึ่งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับ การบรรลุเป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญ ดังนี้

          ๑. การกำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือใต้-ใต้ เพื่อการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.  ๒๐๓๐ ผ่านการแบ่งปันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบการณ์ด้านการพัฒนา และการเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมทั้งการประสานงานระหว่างสถาบันของความร่วมมือใต้-ใต้

          ๒. บทบาทของกลุ่ม ๗๗ ในการเสริมสร้างสถาปัตยกรรมพหุภาคีของความร่วมมือใต้-ใต้ โดยการขยาย กรอบความร่วมมือและเครือข่ายในการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ให้ครอบคลุมทั้ง ๑๗ เป้าหมายของวาระ        การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงประเด็นด้านพหุภาคีต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาทางสังคม สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม    รวมทั้งสร้างเวทีและเครือข่ายในการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ นอกเหนือจากที่อยู่ภายใต้สหประชาชาติ

          ๓. แนวทางและวิธีการในการระดมทุนเพื่อการพัฒนาและการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ โดยใช้ประโยชน์จากสถาบันการเงินและกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมและจัดตั้งขึ้นใหม่ อาทิ New Development Bank, AIIB, Silk Road Infrastructure Fund  และ Climate Change Fund นอกจากนี้ การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งสำหรับการระดมทุนเพื่อการพัฒนา

          ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการประชุมจะเป็นเอกสารข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ในเดือนกันยายน ๒๕๕๙

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมประชุมยังได้ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่า การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ติมอร์ เลสเต เลโซโท เมียนมา เป็นต้น สามารถเป็นแม่แบบหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน

          สืบเนื่องจากการประชุมดังกล่าว ประเทศไทยร่วมกับประธานกองทุน Perez-Guerrero Trust Fund for South-South Cooperation (PTGF) มีแผนจะจัดสรรเงินส่วนหนึ่งที่ไทยบริจาคเข้ากองทุนความร่วมมือใต้-ใต้ ให้กับโครงการของประเทศกำลังพัฒนาที่สนใจนำหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตน รวมทั้งประเทศไทยพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับประเทศที่ประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals Partnership)

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ กระทรวงการต่างประเทศยังได้จัดการประชุมประจำปีระหว่างประธานและผู้ประสานงานของกลุ่ม ๗๗ ครั้งที่ ๔๗ โดยมีผู้แทนจากสำนักเลขานุการ กลุ่ม ๗๗ ณ นครนิวยอร์ก และจุดประสานงาน ณ นครเจนีวา กรุงไนโรบี กรุงปารีส กรุงโรม กรุงเวียนนา และกรุงวอชิงตัน เพื่อหารือแนวทางที่จะให้กลไกสำคัญของกลุ่ม ๗๗ นี้ มีเอกภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถขับเคลื่อนให้กลุ่ม ๗๗ บรรลุเป้าหมายในการบรรลุวาระเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตไทยประจำเมืองที่เป็นจุดประสานงาน ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย ร่วมทำงานเชิงรุกกับจุดประสานของกลุ่ม G77 ตลอดจนผลักดันปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการทำงานของกลุ่ม ๗๗ ในจุดประสานงานต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และคุ้นเคยต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในทุกเวทีของสหประชาชาติด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ