ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ ของไทย

ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ ของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 2,324 view

เมื่อระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ ของไทย วาระปี ๒๕๕๙ (Workshop on Thailand’s Chairmanship of the Group of 77 in 2016) โดยมีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ และนาย Kingsley Mamabolo เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำสหประชาชาติ ในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ๒๕๕๘ เป็นประธานร่วม และมีนาย Mourad Ahmia เลขาธิการบริหารกลุ่ม ๗๗ ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการหารือในช่วงรับประทานอาหารกลางวัน 

ที่ประชุมฯ ได้ให้การตอบรับด้วยดีกับวิสัยทัศน์ของไทยในการเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ ซึ่งกำหนดว่า “จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ: ความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกฝ่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” รวมทั้งกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ ของไทย ๕ เป้าหมาย อันประกอบด้วย

๑. การผลักดันการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และการระดมทุนเพื่อการพัฒนาตามวาระปฏิบัติการแอดดิส อาบาบา ผ่านการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก ซึ่งวาระทั้งสองได้รับการรับรองจากสมาชิกสหประชาชาติในปี ๒๕๕๘ ดังนั้น ปี ๒๕๕๙ จึงถือเป็นก้าวแรกในการวางรากฐานที่สำคัญสู่การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า 

๒. การส่งเสริมความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาหรือความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation)

๓. การส่งเสริมการประสานงานที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างสำนักงานของกลุ่ม ๗๗ ในเมืองต่าง ๆ ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อสร้างเอกภาพกลุ่มฯ

๔. การผลักดันท่าทีที่สำคัญของกลุ่ม ๗๗ ในคณะกรรมการหลักของสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก

๕. การพิจารณาแนวทางเลือกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ ไทยมีแผนจะจัดการประชุม Thematic Meeting on Sufficiency Economy Philosophy ประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙     

ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นว่า จำเป็นต้องอาศัยจุดเด่นของความเป็นไทย กล่าวคือ ความนุ่มนวลและผ่อนปรนเพื่อไทยจะสามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม (bridge builder) ระหว่างประเทศกำลังพัฒนา และระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อหลอมรวมและกำหนดท่าทีร่วมของกลุ่ม ๗๗ แม้ว่าสมาชิกจะมีความหลากหลายทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างมากก็ตาม
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ