วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการประชุม Thematic Discussion on “Blue Economy for Climate Change Resilience: Towards Partnerships and Collaboration” ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีพลเรือตรี Khurshed Alam ปลัดกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ นางสาว Saida Muna Tasneem เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทย และนาง Aban Marker Kabraji ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคสำนักงานภูมิภาคเอเชียของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature—IUCN) ร่วมกล่าวในช่วงพิธีเปิดด้วย
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy) และบทบาทและการดำเนินการที่โดดเด่นของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเลเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชุมชนชายฝั่ง โดยการสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสมดุลและยั่งยืน อาทิ การออกนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมขีดความสามารถและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนชายฝั่ง และการพัฒนาระบบมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้ง (Code of Conduct และ GAP) ที่เน้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การกำหนดมิให้บุกรุกป่าชายเลนเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้ง การควบคุมการปล่อยของเสียและสารเคมี และการส่งเสริมการปลูกป่าชายเลน
นอกจากนี้ ไทยได้ใช้โอกาสดังกล่าวแสดงความมุ่งมั่นในการทำประมงอย่างรับผิดชอบและอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU รวมทั้งได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการสร้างความเป็นหุ้นส่วนในเรื่องดังกล่าวในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ ปี ๒๕๕๙ ด้วย
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทย ร่วมกับ IUCN เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิสัยทัศน์ และข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเลที่มุ่งเน้นสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ ๒๑ (UNFCCC COP 21) ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน – ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่กรุงปารีส
ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย ๑๑ ประเทศสมาชิกของโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต (Mangroves for the Future: MFF) ได้แก่ ไทย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย อินเดีย กัมพูชา มัลดีฟส์ เมียนมา ปากีสถาน เซเชลส์ ศรีลังกา และเวียดนาม และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ MFF อาทิ IUCN โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **