รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 2,170 view

         เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๘  พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three – APT) ครั้งที่ ๑๖ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) ครั้งที่ ๕ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Regional Forum – ARF) ครั้งที่ ๒๒ ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๘ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
         ในช่วงเช้า รองนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม โดยมีนายยุน บยอง-เซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี นายฟุมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น และนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเข้าร่วม โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าอาเซียนบวกสามเป็นกลไกความร่วมมือที่สำคัญในภูมิภาค และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงแนวทางการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอของ East Asia Vision Group II และมุ่งสู่การเป็นประชาคมเอเชียตะวันออกในอนาคต โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าอาเซียนบวกสามควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยต่อยอดจากแถลงการณ์ผู้นำที่ได้รับรองเมื่อปี ๒๕๕๕ โดยไทยจะร่วมกับจีน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเรื่องความเชื่อมโยงในภูมิภาค เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและศักยภาพของ SMEs นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านการเงิน และความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข โดยเสนอให้มีการขยายบทบาทของโครงการสำรองข้าวอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserves - APTERR) ให้ครอบคลุมพืชหลักอื่นนอกจากข้าว เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ Chiang Mai Initiative Multilateralization (CMIM) รวมถึงเน้นย้ำบทบาทนำของไทยในด้านสาธารณสุขในภูมิภาค หลังจากที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนบวกสามเพื่อเตรียมการรับมือไวรัสอีโบลาและไวรัสเมิร์ส
         ต่อมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี EAS โดยที่ประชุมได้แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี ของการก่อตั้งในปีนี้ และเน้นย้ำบทบาทของ EAS ในฐานะเวทีที่ผู้นำสามารถหารือเชิงยุทธศาสตร์ในประเด็นที่อยู่ในความสนใจ และช่วยให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคในภูมิภาค โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ แนวทางการแก้ไขปัญหาในทะเลจีนใต้ การรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย ภัยพิบัติ และโรคระบาดอุบัติใหม่ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เวที EAS เพื่อให้เป็นเวทีเชิงยุทธศาสตร์ระดับผู้นำอย่างแท้จริงโดยการบูรณาการความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่นของอาเซียน และจัดตั้งกลไกเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของ รวมถึงเน้นย้ำให้ EAS ให้ความสำคัญต่อการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การต่อต้านลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้าย การจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนโรคระบาดอุบัติใหม่ โดยในด้านของการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ไทยได้จัดการประชุมเพื่อแก้ปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ นอกจากนี้ไทยยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการรักษาความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ โดยการรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพและความปลอดภัยในการเดินเรือ โดยไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และได้โน้มน้าวให้ประเทศที่เกี่ยวข้องในการใช้ความพยายามทางการทูตเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ภายใต้กฏหมายระหว่างประเทศ
         จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม ARF โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี อาชญากรรมข้ามชาติ โดยที่ประชุมได้รับรองแผนงานกิจกรรมในปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐ จำนวน ๔ ฉบับ และแถลงการณ์เรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยการแบ่งปันภาระร่วมกันโดยนานาชาติ และการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ควรมุ่งรักษาเสถียรภาพทางทะเลเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยการดำเนินการตาม DOC อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพพร้อมกับเร่งเจรจา COC โดยไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ได้ดำเนินหน้าที่อย่างเต็มที่และต่อเนื่องเพื่อลดช่องว่างด้านความไว้ใจระหว่างกัน นอกจากนี้ ควรมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของเวที ARF เพื่อส่งเสริมความกิจกรรมความร่วมมือ เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และเป็นการดำเนินการทูตเชิงป้องกัน ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือกับเวทีและองค์กรความร่วมมืออื่น
         นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนายริมบิงค์ ปาโต (Rimbink Pato) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและตรวจคนเข้าเมืองปาปัวนิวกินี ซึ่งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นและจริงใจที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันในทุกสาขา โดยเฉพาะในด้านการค้าการลงทุน ทั้งนี้ ไทยและปาปัวนิวกีนีเห็นพ้องให้มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคเอกชนมากขึ้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีโอกาสพัฒนาศักยภาพทางด้านธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน โดยฝ่ายปาปัวนิวกินีอยู่ระหว่างการเตรียมการเปิดสถานทูตในไทย และได้เชิญผู้แทนระดับสูงของฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุม Post-Forum Dialogue of the Pacific Island Forum ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๑ กันยายน ๒๕๕๘ ที่กรุงพอร์ตมอร์สบี้ ปาปัวนิวกินี ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการหารือ Thailand – Pacific Island Countries Forum (TPIF)ที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘  นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้แสดงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนากับปาปัวนิวกินีเพิ่มมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านบุคลากรและความเชี่ยวชาญของปาปัวนิวกินี และส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันในอนาคตต่อไป

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ