รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ส.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,011 view

         เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา (Post Ministerial Conference – PMC) ได้แก่ แคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพยุโรป จีน และอินเดีย ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ ๔๘ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
         ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับแคนาดา โดยมีนายแดเนียล ฌอง (Daniel Jean) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแคนาดาเป็นประธานร่วม ที่ประชุมได้เห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนและแคนาดาให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลแคนาดาที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และยินดีที่แคนาดาจะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำอาเซียน และได้รับรองร่างแผนปฏิบัติการอาเซียน-แคนาดาฉบับปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๓ โดยแคนาดาและอาเซียนสามารถส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทางธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยฯ แคนาดาได้แสดงความขอบคุณที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Canada-ASEAN Business Forum เมื่อเดือนมีนาคม ปี ๒๕๕๘ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และนับเป็นต้นแบบในการจัดการประชุมในอนาคต เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนอาเซียนและแคนาดา โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เน้นย้ำว่าอาเซียนและแคนาดา สามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยสร้างศักยภาพให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และควรส่งเสริมความเชื่อมโยงโดยการลงทุนทางด้านโครงข่ายการขนส่งภายใต้ข้อริเริ่ม Asia-Pacific Gateway ของแคนาดา และให้แคนาดาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคส่วนเกษตรกรรมของอาเซียน โดยอาศัยความร่วมมือกับโครงการ Grow Asia ของแคนาดา เป็นต้น
         ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีนายยุน บยอง-เซ (Yun Byung-se) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประธานร่วม ที่ประชุมได้เห็นพ้องที่จะผลักดันผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ที่นครปูซาน เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ ให้ปรากฎเป็นรูปธรรม รวมถึงดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-เกาหลี ปี ค.ศ. ๒๐๑๖ – ๒๐๒๐ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความสำคัญของสาธารณรัฐเกาหลีต่ออาเซียนในsลายมิติ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี อย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้า ๒๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ๒๐๒๐ และใช้ประโยชน์จากศูนย์อาเซียน-เกาหลีและสภาธุรกิจอาเซียน-เกาหลี รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการรับมือกับประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ โรคระบาดอุบัติใหม่ และการก่อการร้าย ตลอดจนใช้ความเชี่ยวชาญของสาธารณรัฐเกาหลีในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในการสร้างศักยภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค
          ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับสหภาพยุโรป (European Union – EU) โดยมีนางเฟดเดอรีกา โมกรีนี (Federica Mogherini) ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง เป็นประธานร่วม ที่ประชุมเห็นพ้องว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนมีความสัมพันธ์มากกว่าเพียงด้านเศรษฐกิจ และครอบคลุมทุกสาขาความร่วมมือ โดยที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายได้มีความคืบหน้าไปมาก โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรปในวาระปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ โดยได้วางแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป และจะผลักดันให้มีการจัดทำ Roadmap เพื่อยกระดับความสัมพันธ์อาเซียนไปสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในอนาคต ตามที่ได้มีการหารือในการประชุมผู้นำอาเซียน-สหภาพยุโรปอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ ที่นครมิลาน อิตาลี โดยจะมีการจัดการประชุม ASEAN EU Ministerial Meeting ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก ทั้งนี้ ฝ่ายสหภาพยุโรปได้แสดงความยินดีและความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในอนาคต
           ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานร่วมของการประชุม ร่วมกับนายหวัง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง และเห็นพ้องความสำคัญของการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ให้ก้าวหน้า โดยได้เห็นพ้องให้มีการเจรจาเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียน-จีน ฉบับปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๓ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเห็นพ้องให้มีการจัดการแลกเปลี่ยนระหว่างโอกาสฉลองครบรอบ ๒๕ ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมบทบาทของไทยที่ช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนในตลอดช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างบรรยากาศและแนวทางของการหารือแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct of Parties in the South China Sea - COC) โดยหลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวผลการประชุมร่วมกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยมีสาระสำคัญคือ ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมหลายสาขา และมีส่วนช่วยสนับสนุนให้อาเซียนมีความเข้มแข็ง โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงาน ได้ดำเนินบทบาทอย่างแข็งขันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงประเด็นเรื่องสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่แม้จะมีความขัดแย้งอยู่ แต่ก็มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยอาเซียนและจีนได้ร่วมรับรองประเด็นที่สองฝ่ายเห็นตรงกันชุดที่สอง (Second List of Commonalities) เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนใหม่ของการเจรจาจัดทำ COC รวมถึงการจัดตั้งโทรศัพท์สายด่วน และการฝึกซ้อมสถานการณ์จำลองด้านการค้นหาและกู้ภัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาเซียนและจีนต่างให้ความสำคัญต่อเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่าน และการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค และเห็นชอบต่อข้อเสนอให้มีการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ในปี ๒๕๕๙ เพื่อฉลองครบรอบครบรอบ ๒๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน
         นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ยังได้เข้าร่วมการประชุมในกรอบแม่โขง ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative – LMI) ครั้งที่ ๘ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๘ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
         ในการประชุม LMI ครั้งที่ ๘ โดยมีนายจอห์น แครี่ (John Kerry) เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้เห็นพ้องถึงความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเทศลุ่มน้ำโขงในฐานะที่เป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพร้อมให้การสนับสนุนด้านการพัฒนานอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างฉบับ ปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๓ และรับรองถ้อยแถลงว่าด้วยเรื่องการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเพื่อน้ำโขง ที่มีจุดประสงค์เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองในการพัฒนามาตรฐานการป้องกันสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาค เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศได้เน้นย้ำบทบาทของไทยในการเป็นประเทศหุ้นส่วนกับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และลดช่องการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก โดยไทยได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาภูมิภาค อาทิ Smart Infrastructure ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ได้กล่าวชื่นชมไทยที่มีบทบาทและขับเคลื่อนการพัฒนากรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยรวม โดยไทยเห็นว่ากรอบความร่วมมือนี้สามารถสนับสนุนประเด็นคาบเกี่ยวเรื่องความมั่นคงทางด้านน้ำ พลังงาน และอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ (UN Post-2015 Development Agenda)
         ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๘ โดยมีนายมิโนรุ คิอุจิ (Minoru Kiuchi) เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้เห็นพ้องถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มน้ำโขง และยินดีที่ญี่ปุ่นได้เสนอเงินช่วยเหลือ ๗๕๐ ล้านเยนให้กับประเทศลุ่มน้ำโขงในช่วง ๓ ปีข้างหน้า โดยที่ประชุมได้รับรองร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือฉบับใหม่เพื่อรองรับยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๕ ฉบับใหม่ (Mekong-Japan Action Plan for Realization of the New Tokyo Strategy 2015) เพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการส่งเสริมศักยภาพทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ โดยไทยพร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือไตรภาคีร่วมกับญี่ปุ่น และมุ่งเน้นการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมุ่งเน้นให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง เพื่อบูรณาการความพยายามในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงต่อไป
        ในช่วงเย็นวันนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนายแอร์นานี คูเอลโย ดา ซิลวา (Hernani Coelho da Silva) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติมอร์ เลสเต โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญนาย ดา ซิลวา เยือนประเทศไทยในโอกาสที่สะดวก ทั้งสองฝ่ายแสดงความชื่นชมความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ใกล้ชิด โดยติมอร์ เลสเต แสดงความขอบคุณไทยที่ได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการ โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เมืองเฮราและเมืองเมติเนโร และโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และไทยได้แสดงความพร้อมที่จะขยายความร่วมมือทางวิชาการแก่ติมอร์ เลสเต ในด้านอื่น ๆ ที่ติมอร์ เลสเต ให้ความสนใจ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เกษตรกรรม สาธารณสุข และการท่องเที่ยว ในการนี้ ฝ่ายติมอร์ เลสเต ได้แสดงความชื่นชมบทบาทแข็งขันของไทยในอาเซียนและเวทีโลก และขอให้ไทยสนับสนุนให้ติมอร์ เลสเต มีการปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนเพิ่มมากขึ้น
          ต่อมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนางจูลี บิชอป (Julie Bishop) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย และแสดงความยินดีที่ได้พบกันอีกครั้งหลังจากที่นางบิชอปได้เยือนไทยเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงและสถาปัตยกรรมในภูมิภาค พร้อมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ ให้แนบแน่นและใกล้ชิดต่อไป อาทิ ความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยทั้งสองฝ่ายพอใจที่จะร่วมกันจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการตอบโต้ภัยพิบัติฉุกเฉิน (rapid disaster response) ในเดือนกันยายนศกนี้ที่ออสเตรเลีย นอกจากนี้ ออสเตรเลียแจ้งว่า กำลังจะเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่ภูเก็ตในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ซึ่งสะท้อนถึงปริมาณนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียที่เดินทางเยือนไทยเป็นจำนวนมาก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ