วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ส.ค. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๘ และการประชุมอื่น ๆที่เกี่ยวข้องที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
โดยในช่วงบ่าย เป็นการประชุมคณะกรรมาธิการสำหรับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Commission of the Southeast Asia Nuclear Weapons Free Zone – SEANWFZ) รองนากยกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความสำคัญของวาระครบรอบ ๒๐ ปีของสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Bangkok Treaty) และเห็นว่าควรสนับสนุนให้ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ๕ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน รัสเซีย และฝรั่งเศส ร่วมรับรอง Bangkok Treaty เพื่อให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์และช่วยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการดำเนินงานในด้านการใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และให้เครือข่ายของหน่วยงานกำกับดูแลการใช้พลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy – ASEANTOM) มีปฏิสัมพันธ์กับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA)
ในการพบกับคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Foreign Ministers’ Interface with AICHR Representatives – AICHR) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค และเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนการทำงานของ AICHR ในสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้การดำเนินหน้าที่ของ AICHR มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และผลักดันให้ AICHR ดำเนินการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างสมดุล และเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับภาคประชาสังคมและองค์กรต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมถึงองค์การสหประชาชาติมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้หารือทวิภาคีกับนายเมฟเลิต ชาวูโชลู (Mevlüt Çavuşoğlu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี โดยทั้งสองฝ่ายได้แสดงความยินดีที่ได้พบกันเป็นครั้งที่ ๔ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศที่แน่นแฟ้น โดยในด้านการเมือง รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนตุรกีในโอกาสแรก เพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีอย่างครอบคลุมในทุกด้าน ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งรัดการจัดทำความตกลงด้านการค้าเสรีไทย – ตุรกี โดยฝ่ายตุรกีเชิญฝ่ายไทยไปหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจา และกระทรวงพาณิชย์จะส่งคณะผู้แทนไปหารือกับฝ่ายตุรกี ซึ่งตุรกียินดี ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Joint Commission on Economic and Technical Cooperation - JC) ระหว่างกันอีกครั้งในโอกาสแรก และในด้านสังคม ตุรกีได้เชิญไทยไปร่วมงานมหกรรมพืชสวนโลกที่เมืองอันทาเลีย (Expo 2016 Antalya) ในเดือนตุลาคม ปี ๒๕๕๙ ซึ่งไทยยินดีจะเข้าร่วม โดยจะส่งผู้แทนจากกระทรวงเกษตรไปหารือกับฝ่ายตุรกีในโอกาสแรก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งว่าไทยจะส่งทีมวอลเลย์บอลหญิงอายุต่ำกว่า ๒๓ ปี (U-23) ไปเข้าร่วมแข่งขันที่กรุงอังการา ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๙ สิงหาคมศกนี้ ซึ่งฝ่ายตุรกีรับที่จะดูแลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นสำคัญร่วมกัน อาทิ แนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างตุรกีกับอาเซียน โดยตุรกีตระหนักถึงบทบาทของไทยในอาเซียน จึงต้องการให้ไทยช่วยสนับสนุนการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้น ในการนี้ ฝ่ายตุรกีได้กล่าวขอบคุณไทยที่ได้ส่งชาวอุยกูร์ ๑๘๐ คนไปยังตุรกี โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมควบคู่กับหลักสิทธิมนุษยชนและฝากดูแลชาวอุยกูร์ ๑๐๙ คนที่ฝ่ายจีนรับกลับไป สำหรับชาวอุยกูร์อีก ๕๙ คนที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติในไทย ฝ่ายตุรกีฝากดูแลและแสดงความพร้อมที่จะรับชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าวไปตุรกีต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **