การเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย

การเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,550 view

         นางศุษมา สวราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ตามคำเชิญของพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ   ในระหว่างการเยือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียได้เข้าร่วมการประชุม World Sanskrit Conference ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๘  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานการประชุม ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเข้าเฝ้าฯ ด้วย
         ในวันที่ 29 มิถุนายน 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ณ ทำเนียบองคมนตรี ก่อนที่จะเดินทางมาเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี ไทย-อินเดีย ครั้งที่ ๗ ร่วมกับพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
         การประชุมดังกล่าวเป็นไปด้วยความราบรื่น ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือทวิภาคีความร่วมมือในระดับภูมิภาคและในเวทีพหุภาคี ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้น ผลการหารือที่สำคัญมี อาทิ
             ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ  ที่ประชุมฯ เห็นพ้องที่จะเร่งรัดการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดียให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนให้กับภาคเอกชน การลดอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ  และตกลงที่จะให้มีการประชุม Thailand-India Business Forum ครั้งที่ ๑ ก่อนการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี  
             ความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง ที่ประชุมฯ เห็นพ้องที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกของไทยเข้ากับชายฝั่งด้านตะวันออกของอินเดีย และย้ำถึงความสำคัญของโครงการถนนสามฝ่าย ไทย-เมียนมาร์-อินเดีย ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ความร่วมมือด้านความความมั่นคง ที่ประชุมฯ พอใจกับพลวัตความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในช่วงเวลาที่ผ่านมา และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มระดับความร่วมมือเพื่อให้สอดคล้องกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
             ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ที่ประชุมฯ เห็นพ้องที่จะสานต่อโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-อินเดีย
             ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการบิน ที่ประชุมฯ พอใจต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างกัน และพร้อมที่จะเปิดการเจรจาความตกลงการบินฉบับใหม่ นอกจากนี้ ฝ่ายอินเดียแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบอย่างเป็นทางการว่า นักท่องเที่ยวไทยสามารถขอรับการตรวจลงตราแบบอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเดินทางเข้าไปยังอินเดียได้ โดยระบบนี้ได้เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗
            ความร่วมมือด้านกฎหมายและกงสุล ที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้ทั้งสองฝ่ายจัดการประชุมคณะทำงานด้านการกงสุลครั้งที่ ๕ ในโอกาสแรก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการกงสุล อาทิ การอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราระหว่างกัน
           ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ ที่ประชุมฯ แสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน และให้การสนับสนุนซึ่งกันทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับพหุภาคี ทั้งสองประเทศมีจุดยืนร่วมกันในประเด็นสิทธิมนุษยชน และมุ่งมั่นที่จะร่วมกันทำงานภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศมีบทบาทสำคัญในการร่วมปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และมุ่งมั่นในการส่งเสริมความสงบสุขและความมั่นคงในทุกระดับ
        ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ได้ลงนามในความตกลงที่สำคัญ ได้แก่
            (๑) เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ (Agreed Minutes)
            (๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา
            (๓) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอินเดีย ฉบับแก้ไข
            (๔) การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสนธิสัญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
         นอกจากนี้ ยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแต่งตั้งตำแหน่งอาจารย์ด้านแพทย์แผนโบราณอินเดีย ระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิต กับกระทรวงอายุรเวทและการแพทย์แผนโบราณอินเดีย (Ministry of AYUSH)
         อนึ่ง การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 8 จะจัดขึ้นที่อินเดีย ในวันและเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ