ประเทศไทยจัดการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๑

ประเทศไทยจัดการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,021 view

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติเข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงเปิดประชุมระดับรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๑ ภายใต้หัวข้อ “ประเด็นความท้าทายสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้านและยั่งยืน” ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

ในถ้อยแถลงเปิดประชุม นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำคัญของปี ๒๕๕๘ ที่จะมีการประชุมสำคัญด้านการพัฒนา และแสดงความพร้อมในการสนับสนุนการดำเนินงานของเอสแคปในการลดความเหลื่อมล้ำและดำเนินงานด้านการพัฒนาในภูมิภาค โดยย้ำเจตนารมณ์ของประเทศในการมุ่งพัฒนาสู่ประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองและมีธรรมาภิบาลที่ดี มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อมาปรับใช้สำหรับการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง

ในช่วงบ่าย พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทยต่อที่ประชุมเต็มคณะระหว่างการประชุมเอสแคป กล่าวถึงความท้าทายด้านการพัฒนาของภูมิภาค และความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคครั้งสุดท้ายก่อนการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕  โดยประเทศไทยเน้นความสำคัญของการสร้างสมดุลของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทั้งสามมิติ ได้แก่ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการ การลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ระหว่างเมืองและชนบท การส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรม การพัฒนาประชากรตลอดช่วงชีวิต และการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพ

การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๔๐๐ คน จากประเทศสมาชิกเอสแคป ๔๘ ประเทศ และสมาชิกสมทบจาก ๔ ดินแดน  ในปีนี้มีประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรี และผู้บริหารหน่วยงานสหประชาชาติเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ ประธานาธิบดีคิริบาส ประธานาธิบดีนาอูรู นายกรัฐมนตรีฟิจิ นายกรัฐมนตรีตูวาลู เป็นต้น  ภายหลังเปิดการประชุม นายกรัฐมนตรีร่วมกับรองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารเอสแคป ได้ร่วมเปิดนิทรรศการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับนิทรรศการของไทย จัดโดยมูลนิธิมั่นพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาของไทยตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้จัดกิจกรรมคู่ขนานการเสวนาระดับสูงเพื่อแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเลขาธิการบริหารเอสแคปได้เข้าร่วมด้วยและได้ยกย่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับวาระการพัฒนาของโลก โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากเมียนมาร์ และผู้แทนสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ มีผู้เข้าร่วมกว่า ๘๐ คน ทั้งหน่วยงานภาครัฐบาลไทย องค์การระหว่างประเทศ และผู้แทนระดับสูงจากประเทศ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ อิหร่าน ญี่ปุ่น ภูฏาน สปป.ลาว และสหรัฐฯ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ