รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 เม.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 2,478 view

เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๑๒ และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน      ครั้งที่ ๑๖ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการดำเนินงานตามแผนงานสำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสำนักเลขาธิการอาเซียนและกลไกต่าง ๆ ของอาเซียน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาและสิ่งท้าทายต่าง ๆ ที่อาจกระทบภูมิภาคและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของอาเซียนที่จะเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งย้ำความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการทำงานของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการพิจารณาปรับรูปแบบหรือลดจำนวนการประชุมต่าง ๆ ให้เหมาะสม

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงในภูมิภาค บนพื้นฐานของเอกสารที่ไทยยกร่าง โดยย้ำความจำเป็นที่อาเซียนต้องเสริมสร้างความเข้มแข็ง ศักยภาพ ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค รักษาเอกภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศภายนอกภูมิภาค รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องแสดงท่าทีร่วมกันในประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ  ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) ซึ่งเป็นเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนโดยระดับผู้นำ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำข้อตัดสินใจไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอของมาเลเซียที่จะให้มีการปรับเวลาเมืองหลวงของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นเขตเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อเสนอนี้จะมีผลกระทบกับหลายประเทศและประชาชนจำนวนมาก ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ ไทยได้เสนอว่า หากคำนึงถึงผลประโยชน์  ของภาคธุรกิจ แนวทางหนึ่งที่อาจพิจารณาดำเนินการได้ คือ การกำหนดเวลาทำงานของภาคธุรกิจ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ ให้สอดคล้องกัน  ซึ่งมาเลเซียได้กล่าวสนับสนุนแนวทางที่ไทยเสนอ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความจำเป็นที่จะให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎ กติกา และยึดมั่นในหลักการพื้นฐานร่วมกัน เช่น การส่งเสริมธรรมาภิบาล ต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของประชาชน นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายต่าง ๆ ที่อาจเป็นผลมาจากการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในภูมิภาคและประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาการล่าสุดในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมบทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน และย้ำความสำคัญของการผลักดันการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งการเร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วน (early harvest measures) ที่ได้มีการตกลงกันไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ในพื้นที่ขยายตัวลุกลาม อาทิ การจัดตั้งสายด่วนระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและระหว่างหน่วยงานด้านค้นหาและกู้ภัยของประเทศอาเซียนและจีน และการฝึกซ้อมวางแผนร่วม (table-top exercise) ด้านการค้นหาและกู้ภัยร่วมกัน เป็นต้น

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากกรณีแผ่นดินไหวที่เนปาล และประเทศเพื่อนบ้าน คือ อินเดียและบังกลาเทศ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๘  รวมทั้งแสดงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือต่อรัฐบาลและประชาชนของทั้งสามประเทศ

 

*************************

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ