รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีฉลองครบ ๖๐ ปี การประชุมเอเชีย – แอฟริกา ณ เมืองบันดุง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีฉลองครบ ๖๐ ปี การประชุมเอเชีย – แอฟริกา ณ เมืองบันดุง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 เม.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,610 view

เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย เข้าร่วมพิธีฉลองครบ ๖๐ ปี การประชุมเอเชีย – แอฟริกา ณ เมืองบันดุง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

พิธีฉลองดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์รำลึกถึงการประชุมครั้งแรกที่ส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบันดุง โดยผู้แทนรัฐบาลต่างๆ เดินทางถึงเมืองบันดุงในช่วงเช้า โดยเครื่องบินพิเศษของรัฐบาลอินโดนีเซีย และร่วมการเดินเท้า (Historic Walk) จากโรงแรม Savoy Homann ไปยังพิพิธภัณฑ์การประชุมเอเชีย – แอฟริกา ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีฉลองครบ ๖๐ ปี ซึ่งพิธีประกอบด้วย การรำลึกโดยการสงบนิ่ง (Minute of Silence) การกล่าวถ้อยแถลงโดยผู้แทนประเทศต่างๆ ประกอบด้วย นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในฐานะเจ้าภาพ นายรอเบิร์ต เกเบรียล คารีกามอมเบ มูกาเบ ประธานาธิบดีซิมบับเว ในฐานะประธานร่วม นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์ ในฐานะผู้แทนภูมิภาคเอเชีย นายอิบราฮิม มะห์ลับ นายกรัฐมนตรีอิยิปต์ ในฐานะผู้แทนภูมิภาคแอฟริกา และนายฆอร์เก อาร์เรซซา รองประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ในฐานะผู้แทนประเทศผู้สังเกตการณ์ พิธีลงนามข้อความสารบันดุงในเชิงสัญลักษณ์ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาติที่สามแห่งสวาซิแลนด์ ในฐานะผู้แทนภูมิภาคแอฟริกา นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในฐานะผู้แทนภูมิภาคเอเชีย และประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในฐานะเจ้าภาพ และการขับร้องประสานเสียงในเพลง “Bandung Selatan di Waktu Malam”

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมพิธีเปิดอนุสาวรีย์เอเชีย – แอฟริกา ที่บริเวณจัตุรัสบันดุง และได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียและผู้ว่าราชการจังหวัดชวาตะวันตกร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ที่ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดชวาตะวันตก ก่อนเดินทางกลับไปยังกรุงจาการ์ตาโดยเครื่องบินพิเศษของรัฐบาลอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในระหว่างการเข้าร่วมพิธีฉลองครบ ๖๐ ปี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบปะกับผู้แทนระดับสูงของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมพิธีฯ อาทิ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รัฐกาตาร์ สาธารณรัฐคีร์กิซ สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ เป็นต้น

อนึ่ง การประชุมเอเชีย – แอฟริกา ในครั้งนี้ มีเอกสารผลลัพธ์การประชุม ๓ ฉบับ โดยเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนา หรือความร่วมมือแบบใต้ – ใต้ ประกอบด้วย ๑) ข้อความสารบันดุง ปี ค.ศ. ๒๐๑๕ การเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้ – ใต้ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลก ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ในการเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้ – ใต้ โดยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียกับแอฟริกาให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และการยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งทางด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่สันติภาพและความมั่นคง การขจัดความยากจน และการบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน รวมทั้งการจัดการกับความท้าทาย
ข้ามชาติอื่นๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ๒) ปฏิญญาว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่หุ้นส่วนใหม่ทางยุทธศาสตร์เอเชีย – แอฟริกา ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหุ้นส่วนใหม่ทางยุทธศาสตร์เอเชีย – แอฟริกา เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองภูมิภาค และยืนยันพันธกรณีในการขยายสาขาความร่วมมือระหว่างกันและส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น รวมทั้งมุ่งเน้นให้เจตนารมณ์แห่งบันดุงเป็นแนวทางในการดำเนินความร่วมมือระหว่างเอเชียและแอฟริกาในอนาคต ๓) ปฏิญญาว่าด้วยปาเลสไตน์ ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนสิทธิกำหนดใจตนเองของปาเลสไตน์ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่มีเอกราชและอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปตามข้อมติต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งการสนับสนุนการเจรจาหรือการบรรลุทางออกโดยสันติ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ