ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM Symposium on the Future Direction of ASEM

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM Symposium on the Future Direction of ASEM

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 มี.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 3,819 view
 
เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม Asia-Europe Meeting (ASEM)  Symposium on the Future Direction of ASEM ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่โรงแรม Royal Orchid Sheraton กรุงเทพฯ  
 
การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM Symposium ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ ๑๐ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ ที่นครมิลาน ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโสจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ ASEM ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี แห่งการก่อตั้ง ASEM ในปี ๒๕๕๙ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อสนับสนุนการกำหนดทิศทางในอนาคตของ ASEM 
 
ผลที่ได้การหารือครั้งนี้จะเป็นพื้นฐานในการหารือเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ ASEM ของเจ้าหน้าที่อาวุโส ASEM ระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม – ๑ เมษายน ๒๕๕๘ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม ก่อนเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ASEM ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก ให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้น จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ ๑๑ ในช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ ที่ประเทศมองโกเลีย  
 
สำหรับการกำหนดทิศทางในอนาคตของความร่วมมือในกรอบ ASEM รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ฝากวิสัยทัศน์ ๕ ข้อ ต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณา ได้แก่ ๑) การสร้างเขตเศรษฐกิจ ASEM ร่วมกัน ผ่านความเชื่อมโยงและการติดต่อทางเศรษฐกิจ ๒) การผลักดันให้ ASEM เป็นเขตที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ โดยเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ร่วมกัน ๓) ส่งเสริมให้สมาชิก ASEM แสดงจุดยืนร่วมกันในการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา รวมทั้งส่งเสริมความอดกลั้นและทางสายกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาลัทธิหัวรุนแรงและลัทธิสุดโต่ง ๔) เพิ่มพูนความร่วมมือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและการติดต่อระหว่างประชาชนของทั้งสองภูมิภาค และ ๕) เสริมสร้างความเข้มแข็งและปรับปรุงกระบวนการ ASEM (ASEM Process) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและนำไปสู่โครงการความร่วมมือที่มีผลเป็นรูปธรรมระหว่างกัน
 
การประชุม ASEM Symposium ในครั้งนี้ประกอบด้วยการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิ จากประเทศสมาชิก ASEM ทั้งฝ่ายเอเชีย และยุโรป โดยแบ่งการหารือเป็น ๕ หัวข้อ ได้แก่ (๑) ภาพรวม (๒) เสาการเมือง (๓) เสาเศรษฐกิจ  (๔) เสาสังคมและวัฒนธรรม (๕) ข้อสรุปการประชุม โดยเน้นให้ความสำคัญใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ การประมวลความสำเร็จและความท้าทายของ ASEM ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ความคาดหวังต่อ ASEM ในทศวรรษที่ ๓ และแนวทางและวิธีการในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว 
 
นับตั้งแต่การประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ ๑ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๓๙ ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วม ๒๕ ประเทศ ปัจจุบัน ASEM มีสมาชิก ๕๓ รายจากเอเชียและยุโรป ASEM รวมทั้งเป็นกรอบความร่วมมือระดับผู้นำเพียงกรอบเดียวระหว่างภูมิภาคเอเชียกับยุโรปในขณะนี้ โดยผู้นำจากทั้งสองภูมิภาคจะได้พบกันทุก ๒ ปี เพื่อหารือในประเด็น ๓ เสาหลักได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และ สังคมและวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ