เอกอัครราชทูตปากีสถาน อิตาลี และเยอรมนี ประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เอกอัครราชทูตปากีสถาน อิตาลี และเยอรมนี ประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ม.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,827 view

เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๘ เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย รวม ๓ ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน อิตาลี และเยอรมนีประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 ๑. นายโซเฮล ข่าน เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือประเด็นทวิภาคีไทย – ปากีสถาน ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการเพิ่มระดับการค้าและการลงทุน ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งคาดว่า น่าจะสามารถเริ่มกระบวนการเจรจาได้ภายในปีนี้ การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีฯ จะช่วยขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มระดับการบริโภคและการลงทุนของทั้งสองประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ได้กำหนดร่วมกันว่า จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสองเท่าภายในปี ๒๕๖๑ ทั้งนี้ ฝ่ายปากีสถานแสดงความสนใจที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับไทยใน ๕ สาขา ที่มีศักยภาพ ได้แก่ ประมง อัญมณี ผลไม้แห้ง ชิ้นส่วนยานยนต์ และการก่อสร้าง

เอกอัครราชทูตปากีสถานฯ ได้แจ้งความพร้อมของปากีสถานในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการ ร่วมทางเศรษฐกิจ (Joint Economic Commission - JEC) ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นกลไกการหารือและผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และได้เชิญให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือน ปากีสถานเพื่อเป็นประธานร่วมการประชุมดังกล่าว

นอกจากนี้ ปากีสถานยังต้องการที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ด้านวัฒธรรมกับไทย โดยขอรับภาพยนต์เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยเพื่อนำไปฉายในสถานีโทรทัศน์ของปากีสถาน รวมทั้งขอความร่วมมือและคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของไทย ในการบูรณะซ่อมแซมตักศิลา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาแห่งแรก และเป็นโบราณสถานที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนานิกชนทั่วโลก

๒. นายฟรานเชสโก ซาเวริโอ นิซิโอ เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ได้หารือประเด็นทวิภาคีไทย – อิตาลีในหลายประเด็น โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวขอบคุณ อิตาลีที่ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุม ASEM ครั้งที่ ๑๐ ที่นครมิลาน เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ อย่างสมเกียรติ รวมทั้งยังได้กล่าวแสดงความยินดีที่อิตาลีจะจัดงาน World Expo 2015 ที่ นครมิลาน ระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ โดยมีประเทศเข้าร่วม ๑๕๗ ประเทศ ทั้งนี้ ทางผู้จัดงานฯ ได้กำหนดให้วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ เป็นวันในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเป็นการพิเศษในระหว่างการจัดงานครั้งนี้

ในด้านเศรษฐกิจ ไทยและอิตาลีจะริเริ่มการจัดประชุม Business Forum โดยเชิญนักธุรกิจชั้นนำจากทั้งสองประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิด เห็น เพื่อสร้างสรรค์โอกาสใหม่ ๆ ทางด้านการค้าการลงทุน ขณะที่ในด้านการท่องเที่ยว ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งนี้ มีนักท่องเที่ยวอิตาลีเดินทางมาไทยเฉลี่ยต่อปีราว ๒๕๐,๐๐๐ คน

๓. นายรอล์ฟ เพเทอร์ กอทท์ฟรีด ชุลเซอ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย แสดงความเข้าใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยตามบริบทและเงื่อนไขของประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปการเมืองและยินดีแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ การจัดการเลือกตั้งในเยอรมนีแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งของไทย นอกจากนี้ได้หารือประเด็นความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีในหลายมิติที่ยัง คงแฝงไว้ซึ่งศักยภาพ อาทิ ความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับอาชีวะ ซึ่งภาคเอกชนของเยอรมนีให้การสนับสนุนโอกาสการฝึกงานและการรับเข้าทำงานภาย หลังสำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ เยอรมนีพร้อมร่วมมือกับไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านรถไฟและพลังงานทดแทน โดยฝ่ายไทยเองแสดงความพร้อมในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับ เยอรมนีในสาขาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ทั้งนี้ ฝ่ายเยอรมนีเล็งเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน และเป็นเป้าหมายสำคัญในการเข้ามาขยายการค้าการลงทุน

เอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ ได้กล่าวขอบคุณและซาบซึ้งที่รัฐบาลไทยจัดงานพิธีรำลึกครบรอบ ๑๐ ปี เหตุการณ์ภัยพิบัติ สึนามิ ณ จังหวัดพังงาเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวขอบคุณที่ เอกอัครราชทูตเข้าร่วมงานรำลึกฯ ด้วย ในช่วงท้ายของการหารือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศได้กล่าวขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ที่มีส่วนร่วมในการประสานงานและการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมงานเสวนา “On the Path to Reform” ทำให้งานดังกล่าวได้รับฟังเสียงสะท้อนต่อมุมมองการปฏิรูปอย่างหลากหลายและ รอบด้านยิ่งขึ้น

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ