วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และกฎหมายร่วมกับนายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ และนางกาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ แถลงข่าวการดำเนินการของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการประมงผิดกฎหมาย ณ กระทรวงการต่างประเทศ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความจริงจังของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการ “ปฏิรูป” การแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเสริมสร้างบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน เหยื่อผู้ประสบปัญหาการค้ามนุษย์ ภาคส่วนสื่อมวลชน ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สรุปการดำเนินการต่างๆ ดังนี้
๑. กลไกในการแก้ไขปัญหา คณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ไขการค้ามนุษย์และประมงผิดกฎหมายได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ ๕ คณะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ๑. คณะอนุกรรมการเรื่องค้ามนุษย์ ๒. คณะอนุกรรมการเรื่องประมงและ IUU ๓. คณะอนุกรรมการเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานบังคับและแรงงานต่างด้าว ๔. คณะอนุกรรมการสตรี และ ๕. คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นประธานในแต่ละคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบ
๒. ความคืบหน้าที่สำคัญ ใน ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฏกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ (๒) การเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกและดูแลเหยื่อ (๓) การเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และ (๔) การจัดระเบียบและจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว
๓. แผนการดำเนินงานที่สำคัญ คณะอนุกรรมการทั้ง ๕ คณะ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในห้วงเวลา ๓ - ๖ เดือนในประเด็นที่มีความสำคัญในลำดับต้น ได้แก่ (๑) เพิ่มประสิทธิภาพในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีค้ามนุษย์ ตลอดจนการจัดการกับเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ (๒) เพิ่มความถี่ในการตรวจพื้นที่เสี่ยง อาทิ สถานประกอบการในจังหวัดใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยว เพื่อกวาดล้างผู้กระทำผิด (๓) เร่งรัดการจดทะเบียนเรือประมงไทยและออกใบอนุญาตการทำประมง (๔) ปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรองเพื่อการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย และปรับปรุงระบบการตรวจย้อนกลับ และ (๕) เร่งดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวและการพิสูจน์สัญชาติให้เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้
๔. การดำเนินงานกับต่างประเทศในกรณี Trafficking in Persons (TIP) Report มุ่งเน้นการหารือและชี้แจงอย่างสม่ำเสมอกับผู้มีบทบาทสำคัญ (Key Players) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกับเจ้าหน้าที่ TIP Office ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘ กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกับบริษัท Target ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกอันดับ ๒ ของสหรัฐฯ และเป็นผู้นำเข้าสินค้าประมงของไทยรายสำคัญ ซึ่งบริษัทฯ ยินดีสนับสนุนประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่
๕. การดำเนินการในระยะต่อไปของกระทรวงการต่างประเทศ เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (๑) จัด VDO Conference กับ TIP Office ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (๒) จัดคณะผู้แทนไทยเดินทางไปชี้แจงให้ข้อมูลกับผู้มีบทบาทนำ (Key players) ของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมีนาคม และ (๓) พบปะชี้แจงให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชน องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **