การเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี

การเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ธ.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,535 view

เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พลเอก ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก นายอนุสิษฐ์  คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ นายภาณุ อุทัยรัตน เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลเอก ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) และพลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ ๔ เดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำอาเซียน พร้อมติดตามความก้าวหน้าและการกระชับความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับมาเลเซียในมิติต่างๆ ทั้ง การพัฒนาความเชื่อมโยง การพัฒนาพื้นที่ชายแดน รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาทิ  ยางพารา และการท่องเที่ยว ทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค ทั้งนี้ เป็นการเยือนประเทศอาเซียนลำดับที่ ๕ ภายหลังเดินทางเยือนเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม แล้ว

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสำเร็จการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้นำสองประเทศได้หารือทวิภาคี ท่ามกลางบรรยายกาศความเป็นมิตรที่ยาวนาน  ถือเป็นความสำเร็จและความก้าวหน้าของความร่วมมือในทุกด้าน

ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวสนับสนุนและยอมรับหลักการ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบภาคใต้ โดยนายกรัฐมนตรีได้แนะนำพลเอกอักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษา กองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งไทยได้มีการกำหนดโครงสร้างคณะทำงานในสามระดับ ประกอบ ระดับนโยบาย ระดับการขับเคลื่อนและระดับพื้นที่ โดยจะมีคณะทำงานทั้งฝ่ายความมั่นคง พัฒนาและภาคเอกชน  ทั้งนี้ ไทยยืนยันให้มาเลเซียยังคงเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งมาเลเซียพร้อมทำหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การพูดคุยจำเป็นต้องใช้เวลา และไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ขอให้ทุกอย่างดำเนินตามขั้นตอน เริ่มจากการสร้างความไว้วางใจ และขอให้กลุ่มที่มาพูดคุย เป็นกลุ่มมีบทบาทในการเคลื่อนไหวในพื้นที่จริง ซึ่งฝ่ายไทยมีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะนำไปสู่การตกลงยุติความรุนแรงที่ยั่งยืน นำไปสู่การสร้างสันติสุข บนพื้นฐานการอำนวยความยุติธรรมและงานพัฒนา การพูดคุยที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะมีความแตกต่างจากอดีตเพราะจะพูดคุยกับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง โดยจะไม่ให้น้ำหนักหรือความสำคัญกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ โดยรัฐบาลจะมีการประเมินข้อมูลที่ได้จากทุกกลุ่ม ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาของไทยจะอยู่ภายในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม เพื่อแสดงความจริงใจที่จะเริ่มให้มีการพูดคุยกัน จะต้องยุติการก่อเหตุในพื้นที่ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนี้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเห็นพ้องว่า เป็นแนวทางการสร้างความสงบในพื้นที่ของไทย และเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาภายในของไทย

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยและมาเลเซียจะผลักดันมูลค่าการค้า ๑ ล้านล้านบาท ในปี ๒๕๕๘ ไทยขอเชิญชวนนักธุรกิจมาเลเซียเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รัฐบาลพร้อมส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงในอาเซียนทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และวัฒนธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และเส้นทางรถไฟ ที่จะต้องมีเชื่อมต่อกันอย่างแน่นอน เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในชุมชนให้เกิดการขยายไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทำให้เกิดเมืองชายแดน ที่จะเป็นผลดีกับประชาชนของทั้งสองประเทศ และส่งผลดีในภูมิภาค ทั้งนี้ รวมถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สำหรับความคืบหน้าโครงการ Rubber City นั้น ไทยมีความพร้อมในการดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยได้เสนอให้มาเลเซียเข้าร่วมในโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันดูแลราคายางพารา และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ได้มีการหารือร่วมกันกับรัฐบาลและภาคเอกชนของจีน เพื่อให้การการสนับสนุนโครงการนี้ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ