รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน งานสานเสวนาปฏิรูป “On the Path to Reform”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน งานสานเสวนาปฏิรูป “On the Path to Reform”

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ธ.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,454 view

เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗  รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ นายมาร์ติน ชุนก็อง (Mr. Martin Chungong) เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ได้กล่าวสุนทรพจน์ในช่วงพิธีเปิดงานสานเสวนาปฏิรูป “On the Path to Reform”

การสานเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศโดยความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิรูปของประเทศต่างๆ มีผู้เข้าร่วมจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ หน่วยราชการ ภาควิชาการ ผู้แทนคณะทูตานุทูต และองค์การระหว่างประเทศ หารือในสามสาขาของการปฏิรูปได้แก่ การปฏิรูปการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการปกครองส่วนท้องถิ่น

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การเสวนาในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของอีกหลาย ๆ การประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้น ช่วยสนับสนุนและตอบสนองนโยบายหลักของรัฐบาลที่ให้มีการหารือจากทุกภาคส่วนและการมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นต่อกระบวนการปฏิรูปที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ทั้ง ๑๑ ด้าน

 ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสาขาการปฏิรูปจากมิตรประเทศต่าง ๆ ที่มาร่วมให้ข้อคิด นำเสนอแง่มุมที่ต่างกันที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์กับไทย ได้แก่ (๑) นาย Martin Chungong (มาร์ติน ชุนกอง) เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ซึ่งเสนอมุมมองจากด้านนิติบัญญัติระหว่างประเทศ (๒) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ โฆเซ ฟรานซิสโก ปาวีอา มหาวิทยาลัยลูเซียดา โปรตุเกส ซึ่งเป็นประเทศที่มีทหารเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองเป็นระยะ ๆ (๓) ดร. นิโคล เทิปเปอร์วีน ที่ปรึกษาองค์กร Ximpulse สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมาจากประเทศที่มีประสบการณ์ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข็มแข็ง (๔) นายเคอิชิโร โออิซุมิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส The Japan Research Institute, Limited ประเทศญี่ปุ่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แจ ฮยอก ชิน ภาควิชารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกาหลี ซึ่งให้ประสบการณ์จากแง่มุมของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของประเทศประชาธิปไตยแบบเอเชีย ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชั่น (๕) รศ. อัลเลน ฮิคเคน ผู้มีผลงานวิจัยสำคัญด้านพรรคการเมือง สถาบันการเมือง และการจัดทำนโยบายการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยสมัยใหม่แบบตะวันตก และมีระบบการกระจายอำนาจสู่รัฐ/การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บรรยายได้แก่ (๖) นายไมเคิล วาทิคิโอทิส จากองค์กร Center for Humanitarian Dialogue ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการกับความขัดแย้งและการปรองดอง

 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการปฏิรูปเป็นกระบวนการของคนไทยและไม่มีสูตรสำเร็จ ไทยจะเลือกแนวคิดที่น่าสนใจมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย และแสดงความหวังว่าการจัดการเสวนาในครั้งนี้จะมีส่วนจุดประกายความคิดให้กับทุกภาคส่วน สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งผลักดันให้ทุกภาคส่วนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปของไทยให้ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ เพื่อประโยชน์ของคนไทยและสังคมไทย และนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ