การประชุม Regional Conference on “The Future of Security in the Asia-Pacific: Emerging Challenges, Promoting Conflict Management and Enhancing Cooperation in Maritime Areas, 26 Aug 2014

การประชุม Regional Conference on “The Future of Security in the Asia-Pacific: Emerging Challenges, Promoting Conflict Management and Enhancing Cooperation in Maritime Areas, 26 Aug 2014

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 2,778 view

การประชุม Regional Conference on “The Future of Security in the Asia-Pacific: Emerging Challenges,Promoting Conflict Management and Enhancing Cooperation in Maritime Areasเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวปาฐกถาหลักในการประชุม Regional Conference on “The Future of Security in the Asia-Pacific: Emerging Challenges,Promoting Conflict Management and Enhancing Cooperation in Maritime Areas” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕ –๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวถึง ปัญหาท้าทายของเอเชียตะวันออกซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากภูมิภาคที่ไม่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องดินแดนในยุคก่อนอาณานิคมและไม่มีกติกาในการดำเนินความสัมพันธ์ มาเป็นภูมิภาคที่ต้องมีความชัดเจนทั้งในเรื่องดินแดนและการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะภายหลังการบังคับใช้กฏบัตรอาเซียน นอกจากนี้ ความท้าทายเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ค่านิยมที่แตกต่างระหว่างของชาติตะวันตกและของเอเชียในการจัดการกับปัญหาต่างๆการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนำความคาดหวังให้อาเซียนต้องมีความรับผิดชอบในประเด็นปัญหาระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น และโดยที่อาเซียนไม่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศใดและมีความสัมพันธ์กับทุกประเทศ ทำให้อยู่ในสถานะที่ดีและมีอำนาจในการโน้มน้าวให้ประเทศต่าง ๆ หารือร่วมกันเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี

ดร. สุรินทร์ฯ เห็นว่า อาเซียนมีพัฒนาการที่สำคัญ โดยเฉพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ดี อาเซียนดำรงอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของประเทศสมาชิกและสิ่งแวดล้อมที่มีไม่มีความแน่นอน รวมทั้งต้องเผชิญภาวะการสวนทางกัน (dichotomy) ระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจกับความไม่แน่นอนด้านความมั่นคง อาเซียนจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สามารถปฏิบัติได้จริง (more practical) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาอาเซียนมีพัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยคำนึงถึงความพร้อมของประเทศสมาชิกและเน้นความร่วมมือที่ดำเนินการร่วมกันได้ ทำให้ในปัจจุบันสามารถหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เคยมีความอ่อนไหวในอดีต เช่น งบประมาณด้านการทหาร หรือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจนำมาปรับใช้กับการแก้ไขข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ได้

ดร. สุรินทร์ฯ ชี้ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของอาเซียนในการเป็นองค์กรที่มีกฏระเบียบในการทำงานภายใต้กฏบัตรอาเซียน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี ดร. สุรินทร์ฯ มองว่าอาเซียนต้องพัฒนาตัวและไม่สามารถยึดหลักการเดิมของการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน (non-interference) ของอาเซียนควรต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อสมารถตอบสนองต่อสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและความท้าทายของอาเซียนในอนาคต โดยการรักษาความเป็นแกนกลางมีความสำคัญต่อบทบาทของอาเซียนในภูมิภาคในการเป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับทุกฝ่ายในการหารืออย่างสร้างสรรค์และเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกัน ในประเด็นข้อพิพาทอาเซียนจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือ เช่น การลาดตระเวนร่วมหรือการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันมากกว่ามุ่งแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งด้านเขตแดน

ตลอดการประชุมในสองวันที่ผ่านมา ผู้แทนภาครัฐและภาควิชาการ (รายชื่อผู้ร่วมอภิปรายดังแนบ)ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มด้านความมั่นคง การบริหารจัดการความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรวมทั้งแนวทางการส่งเสริมความเชื่อมั่นและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจผ่านการทูตเชิงป้องกัน ตลอดจนการส่งเสริมความ
ร่วมมือทางทะเล โดยที่ประชุมได้หารือใน ๔ หัวข้อหลัก

(๑) แนวโน้มด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ผู้อภิปรายได้หารือถึงประเด็นความท้าทายของทิศทางสถาปัตยกรรมของภูมิภาคด้านความมั่นคงในอนาคต บทบาทของประเทศในภูมิภาคและประเทศมหาอำนาจในสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในอนาคตโดย ดร. Simon Tay เห็นว่ากรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS ควรพัฒนาให้เป็นเวทีหารือที่เน้นด้านยุทธศาสตร์และเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนโดยผู้นำอย่างแท้จริง เอกอัครราชทูต Chan Heng Chee เห็นว่าประเทศมหาอำนาจตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจและการเพิ่มบทบาทของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการรักษาความสมดุลของความสัมพันธ์ของประเทศต่างๆในภูมิภาค

๒) การแก้ไขปัญหาการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันในภูมิภาค ผู้ร่วมอภิปรายได้วิเคราะห์ถึงวิถีทางในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การจัดกับการข้อพิพาทและการแก้ไขความขัดแย้ง โดยเน้นความสำคัญของกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงที่มีอยู่ เช่น ARF และ ADMM Plus ดร. Leszek Buszynski มองว่าปัญหาการอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดของอาเซียนซึ่งท้ายที่สุด การแก้ไขปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ดร. Victor Sumsky เห็นว่าท่ามกลางปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ อาเซียนจะต้องรักษาความเป็นแกนกลางของตนเองไว้ให้ได้ รวมทั้งมีท่าทีที่ชัดเจนในประเด็นระหว่างประเทศร่วมกัน ดร.เติมศักดิ์ฯ เห็นว่าประธานอาเซียนควรมีบทบาทที่ชัดเจนในการยื่นมือเข้าแก้ปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ประเทศสมาชิกอาเซียนควรมีความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือในกรณีที่มีข้อพิพาทกับประเทศนอกอาเซียน รวมทั้งปกป้องผลประโยชน์ของอาเซียน นอกจากนี้ อาเซียนจำเป็นต้องยอมรับและใช้ท่าทีอาเซียนร่วมกันในประเด็นระหว่างประเทศ ภายในปี ๒๐๒๐ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

๓) การรับมือกับความท้าทายทางทะเล ผู้ร่วมอภิปรายได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค ซึ่งข้อพิพาททางทะเลถือเป็นพื้นที่เสี่ยง flash poin)) หลักที่สร้างผลกระทบต่อเสถียรถาพและความมั่นคงของภูมิภาค บทบาทของอาเซียนในการดำเนินแก้ไขปัญหาและลดความตึงเครียด

๔) การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติทางทะเล ผู้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอาชญากรรมทางทะเลที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเห็นพ้องว่าควรมีการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบต่างๆเพื่อรับกับความท้าทายนี้เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินเรืออย่างบูรณาการ ซึ่งจะปกป้องผลประโยชน์ทางด้าเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ