การช่วยเหลือคนไทยในลิเบีย ฉบับที่ ๓

การช่วยเหลือคนไทยในลิเบีย ฉบับที่ ๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,089 view

การช่วยเหลือคนไทยในลิเบีย ฉบับที่ ๓

                   เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๑.๒๐ น. นายมานพชัย วงศ์ภักดี อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในลิเบีย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าในการช่วยเหลือคนไทย ดังนี้

                   หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในลิเบียกล่าวว่า ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงานและแพทย์ทหาร จะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปยัง กรุงตูนิส ประเทศตูนีเซีย โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งจะไปจัดตั้งสำนักงานชั่วคราวในการช่วยเหลือคนไทยที่เมือง Djerba และอีกส่วนหนึ่งจะอยู่ที่กรุงตูนิส

                   ศูนย์ฯ ได้รับแจ้งว่าขณะนี้ ทางการตูนีเซียจะเปิดสำนักงานชั่วคราวพิเศษที่ด่านชายแดนตูนีเซีย – ลิเบียเพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการตรวงลงตราของชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศตูนีเซีย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันพฤหัสบดี นอกจากนี้ ศูนย์ฯ รอการยืนยันจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ว่าทางการลิเบียจะยกเว้นการจัดทำ exit visa ออกจากลิเบียหรือไม่ ซึ่งจะทำให้การอพยพคนไทยกระทำได้สะดวกขึ้น และได้ทราบว่าขณะนี้ อินเดียจะได้ขอให้ประชาชนของตนเองเดินทางออกจากประเทศลิเบีย ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตของแคนาดาได้ปิดสำนักงานแล้ว

                    ด้านความคืบหน้าในการช่วยเหลือคนไทยนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ประสงค์ให้นักเรียนไทยจำนวน ๑๑ คน เดินทางออกจากกรุงตริโปลีโดยเร็ว ส่วนการอพยพคนไทยกลุ่มแรกนั้นจะเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านชายแดนเข้าประเทศตูนีเซียและจะเดินทางไปที่กรุงตูนิส ก่อนที่จะทยอยเดินทางกลับประเทศไทยโดยใช้สายการบินพาณิชย์ ทั้งนี้ การอพยพคนไทยครั้งนี้ จะแตกต่างจากการอพยพเมื่อปี ๒๕๕๔ ซึ่งมีการใช้เรือในการอพยพ เนื่องจากมีแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติทำงานในลิเบียเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนมาก ส่วนการอพยพครั้งนี้ มีแรงงานไทยเหลืออยู่เพียง ๑,๕๐๐ คน เท่านั้น และแรงงานพำนักกระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศลิเบีย จึงต้องใช้เวลาในการรวบรวมแรงงานเพื่อการอพยพต่อไป  ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลีและที่ปรึกษาแรงงานฯ ได้มีการวางแผนเรื่องการอพยพ รวมทั้งมีการแจ้งถึงจุดรวมพลแก่แรงงานไว้ล่วงหน้าและได้มีการซักซ้อมไว้แล้ว

                   ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิประโยชน์ของแรงงาน ได้มีการประชุมหารือกับกรมการจัดหางาน ซึ่งจะช่วยติดตามเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทย รวมทั้งค่าชดเชยต่างๆ ตามกฎหมายแรงงานเมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องอพยพกับนายจ้างและบริษัทจัดหางาน และเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะดำเนินการเรื่องการเยียวยา ต่อไป

 

                    หมายเลขโทรศัพท์สำหรับการติดต่อเพื่อให้ญาติของแรงงานไทยสามารถใช้ติดต่อสอบถามข้อมูล ความคืบหน้า แจ้งความห่วงใยต่างๆ เพื่อศูนย์ฯ ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงตริโปลี ดังนี้

                   โทรศัพท์ ๐๒ ๖๔๓ ๕๒๕๙ และ ๐๒ ๖๔๔ ๗๒๔๕  หมายเลขโทรสาร ๐๒ ๖๔๓ ๕๕๒๒

                  

 

๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗