วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีองค์กร Human Rights Watch ได้เผยแพร่บทความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในระยะเวลา ๒ เดือนที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับประกาศ คสช. ฉบับที่ ๙๗/๒๕๕๗ ว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนนั้น ทาง คสช. ได้มีการออกประกาศฉบับที่ ๑๐๓/๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ ฉบับที่ ๙๗/๒๕๕๗ ซึ่งระบุถึงการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยกล่าวได้ว่า คสช. ไม่มีนโยบายปิดกั้นสื่อมวลชนแต่อย่างใด และมีความมุ่งมั่นที่จะไม่จำกัดเสรีภาพสื่อเกินความจำเป็น เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสามัคคีปรองดอง ดังจะเห็นได้จาก คสช. พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากสื่อมวลชนแล้วนำมาปรับปรุงเป็นประกาศ คสช. ฉบับใหม่ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการปรองดองให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
๒. ข้อวิจารณ์ที่ว่า คสช. ริดรอนเสรีภาพด้วยการห้ามชุมนุมในที่สาธารณะเกิน ๕ คน ทาง คสช. ยืนยันว่ามาตรการเหล่านั้นเป็นไปเพื่อดำเนินการสร้างความปรองดองของคนในชาติ พร้อมกับรักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ คสช. มีความจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการปะทะกันของฝ่ายต่างๆ และเมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ มาตรการเหล่านั้นก็จะถูกยกเลิก นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่า บุคคลที่ คสช. ควบคุมตัว ต่างเป็นผู้ที่ประกาศชัดเจนในสื่อสังคมออนไลน์ว่าต้องการระดมคนเพื่อสร้างความไม่สงบ
๓. ข้อวิจารณ์ที่ว่า คสช. มีการกักตัวผู้คนตามอำเภอใจหรือกักตัวโดยลับนั้น จากข้อมูลจะเห็นว่า คสช. มีการเรียกตัวบุคคลมารายงานตัวทั้งสิ้น ๔๗๑ คน ในจำนวนนี้ ไม่มารายงานตัว ๖๒ คน โดยในจำนวนผู้ที่มารายงานตัว มีน้อยกว่าร้อยละ ๕ ที่ถูกควบคุมตัวเกิน ๗ วัน นอกจากนี้ ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนต่างได้รับการปฏิบัติอย่างดีและได้มีการปล่อยตัวกลับหมดแล้ว ซึ่งองค์กร Human Rights Watch ก็ได้เข้าไปสำรวจสถานที่ควบคุมตัวแล้ว
๔. ข้อกล่าวหาการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าสงวนนั้น คสช. ได้เร่งรัดดำเนินการในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยและการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน โดยแบ่งผู้บุกรุกออกเป็น ๓ ประเภท คือผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน ผู้ที่มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอแต่พยายามขยายพื้นที่ทำกิน และนายทุนที่จ้างวานทำลายป่าสงวนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งนี้ ทาง คสช. ยืนยันว่าจะเยียวยาในส่วนของคนยากจนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง และจะไม่มีการทำร้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือทำลายทรัพย์สินของผู้ยากไร้อย่างเด็ดขาด แต่มุ่งหมายบังคับใช้กฏหมายกับกลุ่มนายทุนมากกว่า
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **